ปตท. ประกาศเป้า Net Zero ของกลุ่มภายในปี 2050 สร้างสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อคนไทยอย่างยั่งยืน

2341 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. ประกาศเป้า Net Zero ของกลุ่มภายในปี 2050 สร้างสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อคนไทยอย่างยั่งยืน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่  บมจ. ปตท. (PTT)  ประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่ม ปตท. ที่จะมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 ก่อนเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ โดยทางกลุ่มจะมีกลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนปฏิบัติการรองรับ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ของกลุ่ม  (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) ผ่าน 3 แนวทางหลัก ที่เรียกว่า 3P คือ 

โดย P แรก คือ Pursuit of Lower Emissions (การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด 30% ผ่านโครงการสำคัญ) เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์ บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออก ภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน หรือการนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน 



ส่วน P ที่สอง คือ Portfolio Transformation (การเพิ่มสัดส่วนการลงทุน มาเน้นธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน) ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ 32% ของงบประมาณการลงทุน เนื่องจากการปรับสัดส่วนการลงทุนเชิงรุก จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50%

และ P ที่สาม Partnership with Nature and Society (การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ) โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมมือกันดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท. เช่น การดำเนินการปลูกป่าไม้

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ปตท. ได้ดำเนินการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์กว่า 80% สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ยปีละ 4.6 แสนคัน และปลดปล่อยออกซิเจนได้กว่าปีละ 1.55 ล้านตันออกซิเจน อีกทั้งยังสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้มากถึงปีละ 280 ล้านบาท



ดังนั้น กลุ่ม ปตท. พร้อมเดินหน้าปลูกป่าเพิ่มเติมอีก 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030 แบ่งเป็นการดำเนินการโดย ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ โดยใช้การพัฒนาของเทคโนโลยี ช่วยสำรวจการเติบโตและวิเคราะห์ข้อมูลการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในอนาคต พื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และยังสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โอกาสนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTT ย้ำด้วยว่า กลุ่ม ปตท. พร้อมสร้างความร่วมมือกับภาคีต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญระดับประเทศและระดับโลก โดยปัจจุบัน ปตท. ได้รับภารกิจเป็นประธานเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network : TCNN) เครือข่ายองค์กรชั้นนำระดั บประเทศจากภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่นรวม 275 องค์กร มีเป้าหมายมุ่งเป็น "เครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero" ผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเร่งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อภาครัฐ มุ่งยกระดับมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ ให้ก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศให้เร็วขึ้น 

       

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้