เดอะวิสดอม กสิกรไทย ฟันธง โอกาสหาผลตอบแทนจากการลงทุนปีหน้ายังเปิดกว้าง แม้เศรษฐกิจโลกจะอึมครึม

2411 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เดอะวิสดอม กสิกรไทย ฟันธง โอกาสหาผลตอบแทนจากการลงทุนปีหน้ายังเปิดกว้าง แม้เศรษฐกิจโลกจะอึมครึม

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเงินและการลงทุน ร่วมวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนมุมมองในกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ "THE WISDOM Investment Forum : Wealth in Challenging World" เดินหน้าฝ่ามรสุม คว้าความมั่งคั่ง คาดการณ์ปีหน้า เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญแรงกดดัน 4 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจกลุ่มชาติมหาอำนาจถดถอย ทั้งจีน สหรัฐฯ และยุโรป ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ หรือสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่ยังพุ่งสูง จนทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดเศรษฐกิจโลกลงมาเป็นขยายตัวไม่เกิน 2.7%  

ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าให้ฟังว่า การที่ IMF ปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกลงจากประมาณการเดิม เกือบ 1.0% พร้อมประเมินด้วยว่า มีโอกาส 25% ที่เศรษฐกิจโลกปีหน้าอาจขยายตัวไม่ถึง 2% หากเศรษฐกิจกลุ่มชาติมหาอำนาจชะลอตัวมากกว่าที่คาด  

โดยสหรัฐอเมริกา และยุโรป มีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยว่าจะยาวนานเพียงไร เมื่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อคุมเงินเฟ้อในปีนี้ส่งผลชัดเจนในปีหน้า ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น ทั้งจากตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว และราคาพลังงานระดับสูง 

ส่วนจีน มีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง 5.5% อย่างที่คาดกันไว้ เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาไม่เต็มที่ รวมถึงปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่กดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องในช่วงที่ผ่านมาหดตัวลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากนโยบายโปลิศบูโร เพิ่มแรงกดดันตามมา 



สำหรับเอเชีย มีความแตกต่างกันไป แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่พึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นตัวผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลุ่มส่งออกพลังงานที่ได้ประโยชน์จากราคาพลังงานยืนระดับสูง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกลุ่มที่พึ่งพิงดุลบริการ อย่างฟิลิปปินส์ ไทย ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับการเติบโตของการท่องเที่ยว เพราะแนวโน้มการส่งออกมีความเสี่ยงจะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก โดย ธปท. มองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าน่าจะเติบโตเพิ่มจาก 3.3% ปีนี้ เป็น 3.8%   

ในประเด็นนี้ นายอัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เสริมว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของค่าเงินบาท การปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน ค่าแรง หรือต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจควรเตรียมพร้อมเพื่อบริหารความเสี่ยงจากปัจจัยเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าด้วย   

สำหรับภาคการลงทุน นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ. หลักทรัพย์กสิกรไทย (KS) ระบุว่า หลักการลงทุนหุ้นให้งอกเงยในปีหน้า ต้องให้ความสำคัญกับ 2 ปัจจัย คือ เงินเฟ้อ และภาพเศรษฐกิจโลก โดยประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ ให้ลงทุนในประเทศที่เงินเฟ้อเกิดจากแรงดันของต้นทุน (Cost-push inflation) หรือการที่ต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นนั่นเอง ถือเป็นเงินเฟ้อด้านอุปทาน หรือ Supply side และหลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศที่เงินเฟ้อเกิดจากความต้องการสินค้ามีมากกว่าจำนวนสินค้า (Demand-pull inflation) ถือเป็นเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ หรือ Demand side ที่สำคัญ ควรกระจายพอร์ตลงทุนหุ้นในสัดส่วน 60% แบ่งเป็นหุ้นไทย 30% อีก 15% ลงหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่เหลือ 15% ลงในหุ้นจีน เน้นกระดาน A-share

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลงทุนหุ้นไทยมากกว่าหุ้นต่างประเทศ คือ หุ้นไทยมีความน่าสนใจในการลงทุนช่วงครึ่งแรกปีหน้า ทั้งเงินเฟ้อมาจากด้านอุปทาน ประกอบกับกำลังซื้อเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นรวดเร็ว หลังจากหดตัวค่อนข้างมาก (Pent Up Demand) ในช่วงที่ผ่านมา   




สำหรับการลงทุนทองคำ นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฮั่วเซ่งเฮง บอกว่า ทองคำยังคงสามารถใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนได้ เพราะเศรษฐกิจโลก และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าอยู่ ทำให้บทบาทของทองคำ ในฐานะสินทรัพย์หลบภัยที่ดีของนักลงทุน (Safe Heaven) ยังคงอยู่

โดยกลยุทธ์ในการลงทุน ควรแบ่งไม้ซื้อสะสม ไม้แรก ให้เข้าซื้อบริเวณ 1,600–1,614 ดอลลาร์สหรัฐฯ และไม้อื่นๆ ให้เข้าซื้อเมื่อราคาปรับลงต่ำกว่า 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนจังหวะลงทุน ควรเริ่มสะสมทองคำเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย
 
ส่วนบิตคอยน์ ที่เป็นสินทรัพย์ทางเลือกของ Gen ใหม่ นายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฉลกดอทคอม ชี้ว่า บิตคอยน์เป็นเทคโนโลยีที่ฆ่าไม่ตาย เพราะปัจจุบันตัวเลขการใช้งานยังเพิ่มขึ้นสูงมาก แต่เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงมาก ดังนั้น การลงทุนจะต้องพิจารณาเรื่องของ 4 Year Cycle หรือการที่บิตคอยน์จะมีการผลิตลดลงครึ่งหนึ่ง (Halving) ทุก 4 ปี ซึ่งจะช่วยให้มีความเป็นสินทรัพย์สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแห่ซื้ออย่างคึกคัก

ดังนั้น นักลงทุนที่ไม่ได้คิดจะลงทุนระยะสั้น หรือเก็งกำไรระยะสั้น และมีการป้องกันความเสี่ยงที่ดี อาจเริ่มเก็บสะสมเหรียญได้ในช่วงนี้ แต่สำหรับนักลงทุนที่นิยมเก็งกำไร อาจต้องรออีกสักระยะ เพื่อให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนจากตลาดก่อน   

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้