กรีนชูพ่นพิษ BTG แกว่งต่ำจองต่อเนื่อง แนะรายย่อยที่สนใจต้องถือลงทุนระยะยาวเท่านั้น

2841 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรีนชูพ่นพิษ BTG แกว่งต่ำจองต่อเนื่อง แนะรายย่อยที่สนใจต้องถือลงทุนระยะยาวเท่านั้น

การเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ บมจ. เบทาโกร (BTG) สร้างความผิดหวังให้นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) เมื่อราคาหุ้นยืนต่ำจองทั้งวัน โดยหลังจากเปิดตลาดที่จุดสูงสุดของวัน ที่ 39.75 บาท ต่ำกว่าราคาจอง 25 สตางค์ และราคาหุ้นแกว่งแดนลบตลอด ไม่มีวี่แววจะปรับขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากมีการจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันในสัดส่วนที่สูง อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำกรีนชู หุ้นส่วนเกิน 65.2 ล้านหุ้น (คิดเป็น 15% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายตั้งต้น) ทำให้เมื่อมีแรงขายโถมออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคบ่าย ทำให้ราคาหุ้นปรับฐานลงเป็นลำดับ กระทั่งปิดตลาดที่จุดต่ำสุดของวันที่ 36.25 บาท คิดเป็นผลขาดทุน 9.38%

พร้อมกันนั้น ยังมีข่าวลือแพร่สะพัดเข้ามาเกี่ยวกับการที่บริษัทฯ จ่ายปันผล 10,500 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนเสนอขายหุ้น IPO อีกทั้งมีการคาดหมายกันว่า การที่ราคาหุ้นต่ำจองมีสาเหตุหนึ่งจากการที่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน IPO มีการขายหุ้นออกมา ซึ่งทางผู้บริหารบริษัทฯ ได้ออกมาชี้แจงภายหลังว่า การจ่ายปันผลดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่เป็นเจ้าของบริษัท 100% ซึ่งเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยืนยันด้วยว่า ได้มีการทำสัญญาห้ามขายหุ้นกับผู้ถือหุ้ นเดิมก่อน IPO ทุกราย จำนวนรวม 1,500 ล้านหุ้น เป็นระยะเวลา 6 เดือนหลังจากหุ้น BTG เข้าซื้อขายวันแรก หวังฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน ก็ทำให้เริ่มมีแรงซื้อดันราคาหุ้นช่วง 2 วันทำการถัดมา ให้ฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อย โดยขยับขึ้นมาแกว่งบริเวณ 37.50 บาท แต่ก็ยังต่ำจองอยู่ดี  



ซึ่งหากเปรียบเทียบกับกรณีของ บมจ. ไทยประกันชีวิต (TLI) ก่อนหน้านี้ ที่มีการกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันในสัดส่วนสูง และมีการทำกรีนชูเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น ช่วง 30 วันหลังหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกัน ก็พบว่า ราคาหุ้นยืนต่ำจองเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะปรับขึ้นมาแกว่งบริเวณราคาจอง ทำให้มีการคาดหมายกันว่า น่าจะเห็นราคาหุ้น BTG แกว่งในลักษณะเดียวกัน และการลงทุนในหุ้น BTG เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวเท่านั้น 

ที่เป็นเช่นนี้ ได้รับการอธิบายว่า มีสาเหตุจากเบทาโกรมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระหนี้สินระยะสั้น และระยะยาวกับสถาบันการเงินราว 8,960–10,500 ล้านบาท เพื่อให้ฐานะทางการเงินมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ที่เหลือนำไปใช้ลงทุน ด้วยการเข้าซื้อ ก่อสร้างฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ประมาณ 8,000 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานอีก 1,021 ล้านบาท เพื่อสร้างศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนให้สอดรับกับแผนลงทุน 5 ปี (2565-69) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

- ขยายกำลังการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในอีก 5 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย อาหารสัตว์เป็น 5.5 ล้านตันต่อปี อาหารแปรรูปและไส้กรอก 223,000 ตันต่อปี โรงงานแปรรูปสุกร 4.8 ล้านตัว และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อ 270 ล้านตัว 
- มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งจะเพิ่มสัดส่วนของแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียมและมาตรฐาน 
- ขยายการประกอบธุรกิจในต่างประเทศ โดยมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานและฟาร์มเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในกัมพูชา ลาว เมียนมา 
- ขยายการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศและเพิ่มจุดหมายปลายทางการส่งออก ได้แก่ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศที่สำคัญ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และกัมพูชา รวมถึงขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเพิ่มการรับรู้แบรนด์ ผ่านการร่วมเป็นพันธมิตรใหม่กับธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงเพิ่มจุดหมายการส่งออกจาก 20 ประเทศทั่วโลก และเพิ่มยอดคำสั่งซื้อของลูกค้า (pocket share) ในภูมิภาคเดิม เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร




นอกจากนี้ เบทาโกรยังมุ่งแสวงหาโอกาสการเติบโตใหม่ (New S-Curve) โดยจัดสรรเงินทุน 900 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ผ่าน Venture Building และ Venture Capital ใน 3 สาขา คือ พัฒนาความสามารถในการเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภค  การสร้างแหล่งโปรตีนใหม่ที่ยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานในสายอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องไปกับธุรกิจหลัก เพื่อรองรับโอกาสการเติบโตของรายได้และกำไรในอนาคต และสอดรับกับแผนลงทุนปี 2565-2569 ควบคู่กันไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้