ตลาดยังเชียร์ซื้อ ADVANC แม้ปีนี้กำไรส่อเค้าหดตัว ปีหน้าโตไม่มาก เหตุ Valuation จูงใจ

2542 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตลาดยังเชียร์ซื้อ ADVANC แม้ปีนี้กำไรส่อเค้าหดตัว ปีหน้าโตไม่มาก เหตุ Valuation จูงใจ

บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ มีรายได้รวม 46,234 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และ 2.1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เนื่องจากยอดขายเครื่องโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น จากการเปิดตัว iPhone14 เร็วกว่าปีที่แล้วหนึ่งไตรมาส ประกอบกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทฯ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 15% YoY และ 4.3% QoQ หลักๆ มาจากค่าใช้จ่ายด้านโครงข่าย และค่าใช้จ่ายการตลาดที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรสุทธิงวดไตรมาส 3 ปีนี้ อยู่ที่ 6,032 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 5.4% YoY และ 4.3% QoQ 

สำหรับรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 29,107 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 0.3% YoY และ 0.4% QoQ แม้จะมีรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ถูกกดดันจากลูกค้าระบบเติมเงินที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่ลดลง ฉุดให้จำนวนลูกค้าในระบบเติมเงินลดลง รวมถึงยังมีปัจจัยด้านการแข่งขันที่ยังคงตัวในระดับสูง และยังคงมีการขายแพ็กเกจดาต้าไม่จำกัดในระดับราคาต่ำสำหรับระบบเติมเงิน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคน คิดเป็นรายเดือน (ARPU) ให้ลดลง

สำหรับผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 99,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% YoY ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 18,648 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 7.0% YoY จากการรับรู้รายการพิเศษเป็นรายได้อื่นในปีที่แล้ว

ที่สำคัญ ผู้บริหาร ADVANC ยังคงยืนยัน ปีนี้ต้นทุนจะได้รับผลกระทบจากค่าสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขยายธุรกิจภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมในส่วนของคอนเทนต์ (cost of content) เพิ่มมาจากช่วงครึ่งหลังปีที่แล้ว เพื่อเป็นบริการเสริมให้กับลูกค้า และยังจำเป็นต้องออกแคมเปญเพื่อขยายและรักษาฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งปีหลัง ทำให้ค่าใช้จ่ายการตลาดจะยังเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รายได้จากการให้บริการหลักน่าจะขยายตัวต่ำเป็นเลขหลักเดียว ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าแนวโน้มกำไรรวมทั้งปีน่าจะชะลอตัวลง ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทุกสำนักเชื่อว่า จะเห็นกำไรรวมทั้งปีชะลอตัวลง และบางสำนักปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลงมา แต่ทุกค่ายกลับเชียร์ “ซื้อ” เพราะราคาหุ้นปรับฐานลงมามากจนมูลค่าหุ้นน่าสนใจมาก

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHS) ชี้ว่า การที่ผลดำเนินงานช่วง 9 เดือนปีนี้ต่ำกว่าคาด เกิดจากรายได้เติบโตน้อย แต่กลับมีต้นทุนค่าโครงข่ายและค่าใช้จ่ายการตลาดสูงเกินคาด ทำให้ปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลงจากเดิม 5.9% มาที่ 25,377 ล้านบาท (-5.7% YoY) ถึงแม้แนวโน้มรายได้และกำไรไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะฟื้นตัวจากเทศกาลปีใหม่และวันหยุดยาว ทำให้คนไทยนิยมท่องเที่ยวปลายปี และการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง เห็นผลตั้งแต่เดือนตุลาคมแล้ว อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ฯ คาดว่า จะเห็นกำไรของบริษัทฯ ฟื้นตัวได้ 8.7% ในปีหน้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

การฟื้นตัวกำไรปีหน้า บวกกับราคาหุ้นยังมี upside 22.7% จากมูลค่าพื้นฐานปีหน้าที่ 235 บาท (อิงวิธี DCF) ทำให้ยังคงยกให้ ADVANC เป็น Top Pick กลุ่มมือถือ โดยยังไม่คิดรวม upside ที่จะเกิดหากดีลซื้อกิจการ TTTBB และ JASIF ประสบความสำเร็จ

เช่นเดียวกับ เมย์แบงก์ (MST) ที่ปรับลดกำไรสุทธิ 3 ปีนี้ (2565-67) ลงมา 1-2% ให้สอดรับกับรายได้ไตรมาส 3 ที่อ่อนแอเกินคาด ส่งผลให้ปรับลดราคาเป้าหมายปีหน้าลงจาก 250 บาท เป็น 247 บาท คิดรวมดีลซื้อกิจการ TTTBB และ JASIF แล้ว (โดยให้มูลค่าหุ้นที่เกิดจากดีลซื้อกิจการที่หุ้นละ 6 บาท) เพราะเชื่อมั่นว่า ADVANC จะประกาศดีลซื้อกิจการภายในปีนี้ เพื่อให้ทันรับการอนุมัติจาก กสทช. ภายในต้นปีหน้า สำหรับปัจจัยที่จะหนุนราคาหุ้นในอนาคต คือการที่อัตราเงินเฟ้อลดลง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เอเซีย พลัส (ASPS) บอกว่า การที่กำไรสุทธิช่วง 9 เดือนแรกมีสัดส่วน 72% ของคาดการณ์ทั้งปี แต่สามารถคาดหวังการฟื้นตัวของกำไรได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป ทำให้ยังคงประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้า ที่ 2.60 หมื่นล้านบาท (-4.1%YoY) และ 2.69 หมื่นล้านบาท (+3.7% YoY) ตามลำดับ แต่ขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 239 บาท แทน พร้อมแนะนำ "ซื้อ" จากศักยภาพในการทำกำไรที่ยังดูดีกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ยังคาดหมายผลตอบแทนจากปันผล 2 ปีนี้ในอัตราจูงใจที่ 4.0% เพราะบริษัทฯ ยังคงยืนยันนโยบายการจ่ายปันผลในอัตรา 70% ของกำไรสุทธิตามเดิม

สำหรับกสิกรไทย (KS) ระบุว่า แม้รายได้ปกติไตรมาส 3 จะออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ 0.8% ส่วนกำไรปกติอยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท ลดลง 7.5% YoY และ 5.6% QoQ จากต้นทุนค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) และอัตราภาษีที่สูงขึ้น แต่ดีกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้ โดยกำไรปกติสะสม 9 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 1.92 หมื่นล้านบาท (-5.8% YoY) คิดเป็น 66.2% ของประมาณการทั้งปีนี้ที่คาดไว้ 2.89 หมื่นล้านบาท ทำให้ยังคงประมาณการกำไรปกติปีนี้ และปีหน้าเหมือนเดิม และคงราคาเป้าหมายปีหน้า (อิงวิธี DCF) ที่ 249.45 บาท คิดรวมการซื้อกิจการแล้ว เพราะการล้มเลิกดีล อาจทำให้ ADVANC สูญเสียข้อได้เปรียบในการแข่งกันที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ตามมา ถึงแม้บริษัทฯ จะต้องยอมรับการไม่มีส่วนลดค่าเช่าใน JASIF ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิและการจ่ายเงินปันผลระยะสั้น 1-2 ปี แต่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับปัจจัยหนุนที่ได้กลับมา ทั้งจากข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่ดีขึ้นในตลาดโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตบ้านหลังรวมตลาด อีกทั้งยังจะมีมูลค่าเพิ่มจากการปลดล็อกมูลค่าที่อาจเกิดขึ้น เช่น การสปินออฟทรัพย์สินทั้ง data center และเสาส่งสัญญาณในระยะต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้