POLY เคาะราคาขาย IPO หุ้นละ 6.80 บาท เปิดจอง 9-11 พ.ย. นี้ ก่อนเข้าซื้อขายวันแรก 16 พ.ย.

2911 จำนวนผู้เข้าชม  | 

POLY เคาะราคาขาย IPO หุ้นละ 6.80 บาท เปิดจอง 9-11 พ.ย. นี้ ก่อนเข้าซื้อขายวันแรก 16 พ.ย.

นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ. โพลีเน็ต (POLY) เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ ในราคาหุ้นละ 6.80 บาท โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ระหว่างวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายนนี้ ผ่านบริษัทฯ และผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นอีก 5 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง (KTX) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า ประเทศไทย (YUANTA) บมจ. หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) บมจ. หลักทรัพย์ พาย (PI) และ บมจ. หลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด (KFS) คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ในหมวดธุรกิจยานยนต์ (AUTO)  

"การกำหนดราคา IPO ที่ 6.80 บาท ใช้วิธีประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E คำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลดำเนินงานช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่งวดครึ่งหลังปีที่แล้ว ถึงงวดครึ่งแรกปีนี้ ซึ่ง POLY มีกำไรสุทธิรวม 149.7 ล้านบาท และจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้จำนวน 450 ล้านหุ้น ได้กำไรสุทธิต่อหุ้นประมาณ 0.33 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 20.4 เท่า ถือเป็นราคาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน และมีส่วนลด (discount) เมื่อเปรียบเทียบแบบถ่วงน้ำหนักกับบริษัทที่ทำธุรกิจลักษณะเดียวกับ POLY ทั้ง 3 กลุ่ม คือ ยานยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ช่วง 30 - 90 วันทำการล่าสุด นับจากวันที่ 15 มิถุนายนปีนี้ จนถึงวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมี P/E ระหว่าง 22.0 - 24.7 เท่า" ที่ปรึกษาทางการเงิน อธิบาย

สำหรับจุดเด่นของ POLY อยู่ที่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนยาง พลาสติก และซิลิโคน ที่มีการคิดค้นและพัฒนาสินค้าจนได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพจากลูกค้าระดับ Big name ในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) มายาวนานกว่า 20 ปี และประสบความสำเร็จต่อเนื่องในการพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพและรักษ์โลก ในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) และเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical) ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเกิน 25% ผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับวิกฤตโควิด




โดยผลดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด (2562 - 2564) บริษัทฯ มีการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จาก 581.7 ล้านบาท เป็น 523.2 ล้านบาท และ 787.1 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิเร่งตัวจาก 13.1 ล้านบาท เป็น 21.8 ล้านบาท และ 120.9 ล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น หนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น จาก 17.7% เป็น 19.2% และ 28.3% ก่อนจะเติบโตก้าวกระโดดในปีนี้ โดยครึ่งแรกปีนี้ บริษัทฯ มียอดขายรวม 527 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 78.5 ล้านบาท เติบโตเกิน 50% จากครึ่งแรกปีก่อน ซึ่งการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว สร้างผลตอบแทนที่ดีคืนกลับผู้ถือหุ้นตามมา

โอกาสนี้ ที่ปรึกษาทางการเงิน ย้ำด้วยว่า POLY พร้อมจ่ายปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้นในระยะสั้นทันที หลังจากหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย

ด้านนางกาญจนา เหลารัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร POLY อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่บริษัทฯ มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มความสามารถในการทำกำไร จึงตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้จาก 3 ธุรกิจหลัก ในสัดส่วนเท่าๆ กัน โดยจะลดสัดส่วนรายได้จากกลุ่มยานยนต์ (Automotive) ให้ต่ำกว่า 50% ภายในระยะเวลา 1-2 ปี โดยไม่ลดปริมาณรายได้จากการขาย และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical) กับสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) ให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกันภายในระยะเวลา 3-5 ปีจากนี้ และยังมีแผนจะขยายโอกาสทางธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมที่มีความยั่งยืนเพิ่มเติมในอนาคต โดยอาศัยเงินทุนที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้




"เราตั้งเป้าเติบโตใน 3 ปีนี้ ปีละ 25-30% ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ตามแผน จากหลายเหตุผล ประการแรก คำสั่งซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะมีการแจ้งล่วงหน้า โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนโครงสร้างรายได้ปัจจุบันราว 70-80% จะมีการแจ้งล่วงหน้าถึง 2 ปี ทำให้บริษัทฯ สามารถวางแผนการผลิตได้ล่วงหน้า และหากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับเพิ่มก็สามารถปรับราคาขายได้ เฉลี่ยแล้วจะได้ผลกระทบยาวนานสุดไม่เกิน 2 เดือน อีกทั้งการขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีกำไรขั้นต้นสูง 25% และสินค้ากลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีกำไรขั้นต้นสูงถึง 60% ซึ่งมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ยังช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตรายได้และกำไร เห็นผลตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว ประการที่สอง บริษัทฯ ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากรับรู้รายได้และรายจ่ายเป็นเงินบาททั้งหมด ประการสุดท้าย เงินจากการระดมทุนที่เตรียมไว้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ถูกจัดเตรียมเอาไว้รองรับโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ซึ่งพร้อมใช้ลงทุนทันทีที่ปิดดีลธุรกิจได้" ผู้บริหาร POLY ให้ข้อมูลอย่างละเอียด  

ทั้งนี้ โพลีเน็ต มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนประมาณ 785 ล้านบาท หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ 370 ล้านบาท ชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน 320 ล้านบาท และขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม 95 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในโรงงานที่ 1 อีกปีละ 550 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา 16.6% โดยมีผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ (IRR) 19% และระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี สามารถรองรับการเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคง และช่วยต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้