PTT OR จับมือ TOYOTA และ BIG เปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย

2294 จำนวนผู้เข้าชม  | 

PTT OR จับมือ TOYOTA และ BIG เปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. (PTT) พร้อมด้วยนายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก อินดัสเทรียลแก๊ส (BIG) นายปาซานา กาเนซ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (TDEM) และ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (Toyota) ร่วมเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ที่ อำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี โดยนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ด้วยรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อทำการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง สร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต




โอกาสนี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT เปิดเผยว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานที่มีศักยภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากยังเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนมูลค่าสูง จึงทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง 5 พันธมิตรชั้นนำในกลุ่มพลังงานและยานยนต์ครั้งนี้ เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจทั้งในด้านมาตรฐานระดับสากล และความปลอดภัยสูงสุดที่จะส่งมอบให้กับผู้ใช้บริการในอนาคต ปตท. จึงพร้อมสนับสนุนการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบอัดบรรจุก๊าซไฮโดรเจน และข้อมูลเชิงเทคนิคที่จำเป็น ขณะเดียวกัน ยังจะช่วยให้เป้าหมายของกลุ่ม PTT ที่จะผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน และช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าวควบคู่กันไป

ส่วนนายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR บอกว่า หนึ่งในพันธกิจของ OR คือการสร้าง Seamless Mobility เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ  และช่วยผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางและการขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ตลอดจนพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) อย่างครบวงจร การสร้างสถานีบริการไฮโดรเจน เพื่อเติมไฮโดรเจนในรถยนต์ FCEV ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพของบริษัทฯ ในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำ EV Ecosystem ในทุกมิติ โดยผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเติมเชื้อเพลิง อีกทั้งยังจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคที่่มีแผนจะใช้รถ FCEV และภาคธุรกิจที่ใช้รถ FCEV ขนาดใหญ่เพื่อการขนส่ง เช่น รถบัส และรถบรรทุก ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระยะยาวตามมา และยังช่วยให้เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ขององค์กร และประเทศสำเร็จลุล่วงไปด้วย

ขณะที่นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ BIG กล่าวว่า การที่บริษัทฯ ตั้งเป้าเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ ด้วยนวัตกรรมไฮโดรเจน ซึ่งถือเป็นเทรนด์ของโลก จึงได้ผนึกกำลังกับอีก 4 พันธมิตรในการนำนวัตกรรมจากก๊าซไฮโดรเจนมาใช้จริงในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นแห่งแรกของประเทศ โดยบริษัทฯ มีแผนพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีไฮโดรเจนทั้งในแบบคาร์บอนต่ำ และปราศจากคาร์บอน ที่ได้จากบริษัทแม่ในสหรัฐฯ (แอร์โปรดักส์) ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับก๊าซไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ และปราศจากคาร์บอนอันดับหนึ่งของโลก ทำให้มั่นใจได้ว่า นวัตกรรมเกี่ยวกับไฮโดรเจนต่างๆ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างที่กำหนดไว้




ด้านนายปาซานา กาเนซ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ TDEM ชี้แจงว่า บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 เป็นรายแรกๆ ด้วยความเชื่อมั่นในแนวทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทำให้โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะคิดค้นและพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และเทคโนโลยีสะอาด ที่หลากหลาย เพื่อทำให้การลดคาร์บอนสามารถทำได้ในปริมาณมากและเร็วขึ้น ซึ่งการใช้ไฮโดรเจนมีศักยภาพที่ดี จึงได้เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) มิไร ซึ่งหมายถึงอนาคต ในปี 2557 และรุ่นที่ 2 ในปี 2564 เพื่อนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน และอยากจะส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทำงานร่วมกันในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับไฮโดรเจน

เช่นเดียวกับนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Toyota ที่เสริมว่า โตโยต้าพร้อมนำเสนอทางเลือกในการเดินทางที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ทำให้บริษัทฯ มีการศึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ในหลากหลายแนวทาง (Multi Pathway) และเพื่อให้เทคโนโลยียานยนต์ในรูปแบบต่างๆ สามารถนำไปใช้งานได้จริง จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสม ส่งผลให้โตโยต้า มิไร กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองครั้งนี้

ยิ่งบริษัทฯ ได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ทำให้เชื่อมั่นว่า นอกจากจะช่วยเติมเต็มแผนยุทธศาสตร์ Multi Pathway ของโตโยต้าได้แล้ว ยังจะช่วยเติมเต็มวิสัยทัศน์ของประเทศในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกด้วย


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้