2563 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 2,514.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สาเหตุหลักจากรายได้ค่าขายไฟฟ้ามีการเติบโตก้าวกระโดดถึง 134.5% เป็น 24,871.29 ล้านบาท หนุนโดยโรงไฟฟ้าหงสาที่กลับมาจ่ายไฟได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีกำไรจากรายการพิเศษ และการจ่ายภาษีต่ำกว่าคาด
สำหรับงวด 9 เดือนปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 6,023.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% YoY ตามการเติบโตของรายได้ที่สูงถึง 106.4% เป็น 61,570.65 ล้านบาท สาเหตุหลักจากรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าราชบุรีที่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามากกว่าปีที่แล้ว รายได้จากการกลุ่มโรงไฟฟ้าในออสเตรเลีย รวมทั้งรายได้ของกลุ่มโรงไฟฟ้าสหโคเจน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน ที่บริษัทฯ รับรู้รายได้เต็มปี หลังจากเข้าลงทุนเมื่อไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมทุนก็รับรู้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มอีก 1,500 เมกะวัตต์ (MW) จากการร่วมทุนกับกลุ่มเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี และธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนร่วมกับกลุ่มพริ้นซิเพิล แคปิตอล ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
โอกาสนี้ นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH ยืนยันว่า บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีอยู่ในการขยายธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การเข้าซื้อโรงไฟฟ้าของกลุ่มเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี พร้อมกับร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทน รวม 24 โครงการ กำลังผลิตเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 1,500 MW ในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 450.45 MW อีก 10 โครงการกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมที่ 633.70 MW อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง โดยมีกำหนดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2566-2570 และอยู่ในระหว่างการพัฒนาอีก 9 โครงการ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 426.60 MW
สำหรับธุรกิจนอกภาคการผลิตไฟฟ้า (Non-Power Business) บริษัทฯ ได้ร่วมลงทุนกับกลุ่มพริ้นซิเพิล แคปิตอล ในโรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนคร โดยถือหุ้น 25% มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า พร้อมกันนี้ ยังมีการต่อยอดไปสู่ความร่วมมือในธุรกิจติดตั้งโซลาร์บนหลังคา และการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Private Purchase Agreement ให้กับโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ผ่าน บมจ. สหโคเจน ชลบุรี (SCG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย นำร่องปีนี้ 2 แห่ง ที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ ลำพูน และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ ก่อนขยายวงไปยังโรงพยาบาลของกลุ่มพริ้นซิเพิล แคปิตอล อีก 9 แห่ง ในปีหน้า
"บริษัทฯ ยังคงขับเคลื่อนการเติบโตด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ ควบคู่ไปกับหาลู่ทางลงทุนเพิ่มเติมร่วมกับพันธมิตรรายเดิม ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ กำลังเจรจาร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้ากับพันธมิตรในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังจะมีการลงทุนเพิ่มในธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน ผ่านบริษัท อินโนพาวเวอร์ ที่ร่วมทุนกับกลุ่ม กฟผ. ซึ่งกำลังศึกษาความเหมาะสมการลงทุนในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ กองทุน Net-Zero ที่ลงทุนโครงการพลังงานทดแทน รวมถึง โครงการ EV Application และสถานีชาร์จไฟฟ้าของ กฟผ. ขณะเดียวกัน บริษัทฯ จะยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากต้นุทนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น พร้อมรักษาอัตรากำไรให้มีความมั่นคง ขณะเดียวกันก็เร่งศึกษาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อจัดทำแผนที่นำทางไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593” นางสาวชูศรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับภาพธุรกิจปีหน้า ในเบื้องต้น บริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้า 5 แห่งที่ซื้อจากกลุ่มเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี บวกกับโครงการโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นส่วนขยาย กำลังการผลิต 31.2 MW และโครงการพลังงานลมอีโค่วิน กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 15.16 MW นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู รวมทั้งโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ใน สปป. ลาว ที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อีกด้วย
การฉายภาพธุรกิจข้างต้น ถูกนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ตีความว่า การเติบโตของกำไร 9 เดือนแรก จะเป็นตัวผลักดันให้ทั้งปีนี้ RATCH มีกำไรปกติราว 7.1-7.3 พันล้านบาท เพราะโดยปกติแล้ว กำไรไตรมาส 4 มีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากไตรมาส 3 จากการเป็น Low season ของธุรกิจ ก่อนจะกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่นในปีหน้าจากกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาหุ้นมี upside น่าสนใจ โดยอาจจับจังหวะช่วงที่ราคาพักฐานในขณะนี้ ทยอยซื้อสะสมแล้วรอจังหวะขายทำกำไรในปีหน้า หรือถือลงทุนระยะยาว แล้วแต่สไตล์นักลงทุนแต่ละราย
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ดาโอ (DAOL) ชี้ว่า การที่โครงการ Paiton กำลังการผลิต 0.9 MW ยังปิดดีลไม่เสร็จ ทำให้คาดเลื่อนการรับรู้รายได้เป็นไตรมาสแรกปีหน้า (จากเดิมที่คาดว่าจะเข้ามาตั้งแต่ครึ่งหลังปีนี้) ทำให้ปรับประมาณการกำไรปกติปีนี้ลงมาที่ 7,165 พันล้านบาท (+10% YoY) แต่ปรับเพิ่มประมาณกำไรปกติปีหน้าเป็น 9,132 พันล้านบาท (+27% YoY) หลังรวมส่วนแบ่งกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าที่ซื้อจากจากกลุ่มเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี กำลังการผลิต 1,500 MW เพิ่มเข้ามาในประมาณการ คิดเป็นราคาเหมาะสมที่ 53 บาท อิงวิธี SOTP โดยยังไม่คิดรวมโอกาสจากการได้โครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ร่วมกับพันธมิตรในอนาคต
นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งทางการเงิน หลังบริษัทฯ เพิ่มทุนแล้วเสร็จ ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) ลดลงต่ำกว่า 1.0 เท่า ส่งผลดีให้บริษัทฯ มีเงินลงทุนเพิ่มอีกกว่า 4-6 หมื่นล้านบาท สามารถรองรับการขยายธุรกิจเพิ่มในระยะยาว ทำให้ราคาหุ้น RATCH มีโอกาส outperform ตลาดในระยะต่อไป
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า (YUANTA) บอกว่า ยังคงประมาณการกำไรปกติปีนี้ ที่ 7,378 ล้านบาท และปีหน้า ที่ 12,513 ล้านบาท ขยายตัว (+70% YoY) จากการเริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ซื้อจากจากกลุ่มเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี (มีกำลังผลิตที่ COD แล้วรวม 451 MW จากทั้งหมด 1,500 MW) และการลงทุนในโรงไฟฟ้า Paiton หน่วยการผลิตที่ 3, 7 และ 8 ในอินโดนีเซีย กำลังการผลิตรวม 931MW เพราะเชื่อว่าจะปิดดีลทั้ง 2 ธุรกรรมเสร็จสิ้นในไตรมาสแรกปีหน้า คิดเป็นราคาเหมาะสมที่ 59 บาท มี Upside จากราคาหุ้นปัจจุบัน 43.9% โดยราคาปัจจุบันซื้อขายบน PER ปีหน้าเพียง 7.1 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มโรงไฟฟ้า จึงแนะนำ "ซื้อ"
เช่นเดียวกับไพ (PI) ที่มีมุมมองบวกต่อภาพรวมธุรกิจปีหน้า หนุนจากการใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุน ไปกับการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่ซื้อจากจากกลุ่มเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี ขนาดกำลังการผลิต 1,500 MW และรับรู้รายได้แล้ว 450MW และโรงไฟฟ้าถ่านหิน Paiton ขนาดกำลังการผลิต 930MW ในอินโดนีเซีย ที่จะกระตุ้นให้กําลังการผลิตในการดําเนินงานของ RATCH เพิ่มขึ้น 16% จากปัจจุบันที่ 9,200 MW ซึ่งคาดว่าจะชดเชย dilution ที่มีต่อกำไรต่อหุ้นได้ทั้งหมด
ขณะที่ภาพรวมระยะยาวก็ดูสดใส เพราะบริษัทฯ มีโครงการในแผนการอยู่ 2.4 GW พร้อมทยอยเดินเครื่องต่อเนื่องถึงปี 2569 ซึ่งจะช่วยขยายกําลังการผลิตขึ้นเป็น 10.7 GW คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 8.3% จึงแนะนํา "ซื้อ" โดยให้ราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 55 บาท