BCPG พร้อมรุกโรงไฟฟ้าในไต้หวัน และโรงไฟฟ้ามอนสูน ใน สปป.ลาว ดันกำไร 2 ปีข้างหน้าเติบโตรอบใหม่

2600 จำนวนผู้เข้าชม  | 

BCPG พร้อมรุกโรงไฟฟ้าในไต้หวัน และโรงไฟฟ้ามอนสูน ใน สปป.ลาว ดันกำไร 2 ปีข้างหน้าเติบโตรอบใหม่

 

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บีซีพีจี (BCPG) ร่วมกับนายณัฐ หุตานุวัตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพค เอ็นเนอร์ยี่ เอเชีย ดีเวลลอปเม้นท์ (IEAD) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อิมแพค วินด์ อินเวสเม้นท์ และ BCPG ในสัดส่วน 55% และ 45% ตามลำดับ และนายโจว เจียยี่ รองประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทพาวเวอร์ ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างออกแบบวิศวกรรม จัดหา และก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม "มอนสูน” ระหว่างกลุ่มบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล กับบริษัท มอนสูน วินด์ พาวเวอร์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ (MW) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล รวมถีงบริษัทอิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม (IES) และบริษัท ไดมอน เจนเนอเรติ้ง เอเชีย ที่เป็นพันธมิตร ในโครงการ "มอนสูน" ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานใหญ่บีซีพีจี อาคารเอ็ม ทาวเวอร์ โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568

ซึ่งหากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม "มอนสูน” แล้วเสร์จ จะทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ กลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียและเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกที่มีการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนระหว่าง สปป.ลาว กับเวียดนาม ผ่านสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (EVN) เป็นเวลา 25 ปี 

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท พาวเวอร์ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการก่อสร้างงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงไฟฟ้าจากกังหันลมบนเทือกเขา ซึ่งมีความซับซ้อนของพื้นที่ (Complex Terrain) และมีผลงานโดดเด่นทั้งในสาธารณรัฐประชาชนจีน และอีกหลายประเทศ อีกทั้งมีประสบการณ์ในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งใน สปป.ลาว




พร้อมกันนี้ ผู้บริหาร BCPG ได้ประกาศยุทธศาสตร์ในการสร้างการเติบโตในระยะต่อไป ด้วยการรุกขยายโครงการโรงไฟฟ้าในไต้หวันอย่างเต็มตัว โดยตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตสูงถึง 1,000-2,000 MW เพราะรัฐบาลไต้หวันมีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเต็มที่ โดยประกาศเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก 6% ในปีที่ผ่านมา เป็น 20% ในปี 2569 ก่อนพุ่งแตะ 60-70% ภายในปี 2593 เพื่อทดแทนการพึ่งพิงพลังงานจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานนิวเคลียร์

ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ Solar Farm ที่ไต้หวัน กำลังการผลิต 480 MW กลายเป็นประเด็นที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หุ้นกล่มโรงไฟฟ้า ให้ความสำคัญมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานลม มอนสูน เพราะน่าจะรับรู้รายได้ได้เร็วที่สุด ช่วยบรรเทาผลกระทบจาก Adder ที่จะหมดลงในปีหน้าและปีถัดไป เฉลี่ยปีละ 800 ล้านบาทได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะโครงการนี้มีสัญญาขายไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี ที่อัตราค่าไฟฟ้าแบบ FiT ในอัตรา 5.2-5.6 บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง 

โดยความคืบหน้าล่าสุด BCPG กำลังยื่นเรื่องขออนุมัติแผนก่อสร้างในเฟสแรก กำลังการผลิต 51 MW คาดจะสามารถเซ็นสัญญาได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนเฟสที่สอง อีก 219 MW สามารถจัดหาที่ดินรองรับได้แล้ว และพร้อมขอใบอนุญาตเป็นลำดับถัดไป ส่วนที่เหลืออีกราว 210 MW ยังอยู่ระหว่างจัดหาที่ดิน แต่คาดจะสามารถเปิดขายไฟฟ้าได้ทั้งหมดภายในปี 2567



โมนูระ พัฒนสิน (CNS) ประเมินแนวโน้มกำไรของ BCPG ปีหน้าจะปรับตัวลดลง เพราะบริษัทฯ ยังไม่มีโครงการใหม่ที่จะสร้างรายได้ได้มากพอจะชดเชยการได้รับผลกระทบของ Adder ฉุดุให้กำไรปีหน้าหดตัวจากปีนี้ 11% มาอยู่ที่ 4,798 ล้านบาท ก่อนกระเตื้องขึ้น 9% ในปีถัดไป เป็น 5,225 ล้านบาท หนุนโดยโรงไฟฟ้า Solar Farm ที่สามารถเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าได้เต็มตัวช่วยสร้างรายได้ราว 700-800 ล้านบาท ลดผลกระทบจากรายได้ที่หายไปจาก Adder ก่อนเห็นการเติบโตอย่างโดดเด่นในปี 2568 จากโครงการมอนซูน ที่ BCPG ถือหุ้นในสัดส่วน 38%

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำเพียง 0.9 เท่า สามารถก่อหนี้ได้อีก 3 เท่า ซึ่งหากรวมกับการกู้ยืมเงินในรูปแบบ Project Finance ทำให้เชื่อมั่นว่า สามารถรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ตามเป้าหมายที่ผู้บริหารตั้งไว้ที่ 2,000 MW ใน 5 ปีข้างหน้า ได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน จึงคงแนะนำ "ซื้อ" โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 13.10 บาท

ส่วนเอเซีย พลัส (ASPS) ชี้ว่า ภาพระยะสั้น แนวโน้มผลดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายปีนี้ คาดจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ตามช่วงฤดูกาล ส่วนภาพใหญ่รายปี จะเริ่มเห็นกำไรลดลงตาม Adder ที่ค่อยๆ ทยอยหมดไป จึงคงประมาณการกำไรปกติปีหน้า และปีถัดไป ที่ 1,805 ล้านบาท และ 1,317 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าพื้นฐานที่ 11 บาท โดยยังไม่คิดรวม upside ส่วนเพิ่มอีก 3.00-3.50 บาท จากโครงการ Solar Farm ในไต้หวันกำลังการผลิต 480 MW แต่อย่างใด

นอกจากนี้ การที่ราคาหุ้นปัจจุบันปรับขึ้นมาแล้วระดับหนึ่ง คาดสะท้อน sentiment เชิงบวกในประเด็นการปรับขึ้นค่า Ft และการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 5,203 MW ไปแล้ว ดังนั้น ในเชิงกลยุทธ์ระยะสั้น แนะนำ switch ไป GULF แทน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้