BBL ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาขึ้นมากสุด หลังธนาคารต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ประเดิมปีใหม่ทันที

2666 จำนวนผู้เข้าชม  | 

BBL ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาขึ้นมากสุด หลังธนาคารต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ประเดิมปีใหม่ทันที

 

สมาคมธนาคารไทย แจ้งสิ้นสุดมาตรการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ กลับเข้าสู่อัตรา 0.46% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อีก 0.4% มีผลทันทีวันปีใหม่

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 เรื่องการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อลดต้นทุนของสถาบันการเงิน ให้สามารถส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังภาคธุรกิจและภาคประชาชนเป็นการชั่วคราวสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ โดยการลดเงินนำส่งดังกล่าว ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว (M-rate) ลง 0.4% ไปก่อนหน้านี้

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น ธปท. จึงมีทิศทางปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ซึ่งสอดคล้องกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ เพื่อช่วยให้ภาระหนี้ของ FIDF ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สามารถทยอยลดลงได้ตามเป้าหมาย โดยไม่สร้างภาระต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจไทยโดยไม่จำเป็น ธปท.จึงจะมีการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ต่อปี ตามที่ได้ปรับลดไป 0.4% ในช่วงก่อนหน้านี้

 

 

สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าประชาชน และให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติ และได้รับผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ผ่านมาตรการความช่วยเหลือของแต่ละธนาคาร ที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต การเสริมสภาพคล่อง และการไกล่เกลี่ยหนี้ ขณะที่ยังรักษาความมั่นคงและการบริหารความเสี่ยงที่ดีของระบบสถาบันการเงินในอนาคต โดยลูกค้าที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาสามารถติดต่อกับธนาคารที่ใช้บริการได้ทันที 

ขณะเดียวกัน สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก จะเร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ ภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ที่ปรับเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ ลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่รายได้หยุดชะงัก โครงการพักทรัพย์พักหนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ทั้งนี้จะได้มีการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของมาตรการต่างๆอย่างใกล้ชิด และพร้อมพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นในระยะต่อไป โดยสมาคมธนาคารไทย พร้อมปฏิบัติตามนโยบายและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ฝ่ายวิจัย เอเซียพลัส (ASPS) ชี้ว่า จะมีผลให้กลุ่มธนาคารพร้อมส่งผ่านต้นทุนส่วนนี้ให้กับลูกหนี้ ทำให้หลังจากนี้ หาก กนง. มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมวันที่ 25 มกราคม และ 29 มีนาคม ครั้งละ 0.25% จะเป็น Upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารปี 2566 โดยหากตั้งสมมติฐานต่างๆ คงที่ จะพบว่า การขึ้นดอกเบี้ยทุก 10 bps (0.10%) จะมีผลบวกต่อกำไรของ BBL ราว 11% ตามด้วย KTB ประมาณ 8% KBANK ที่ 7% และ SCB ระดับ 6%

สำหรับ KKP และ TISCO ประมาณการฝ่ายวิจัยสะท้อนต้นทุน Cost of fund ทยอยกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด ในปี 2567 ซึ่งช่วงดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย ตอนต้นปีอยู่ที่ 1.75%

 



ในอีกแง่มุมการส่งผ่านต้นทุน FIDF ผ่านสินเชื่อ M-Rate ย่อมส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายของกลุ่มลูกค้าธุรกิจทั้งรายใหญ่และ SME สูงขึ้น อาจกดดันภาคการส่งออกของไทย เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกปีหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สินเชื่อรายย่อย สัญญาส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือภาระจ่ายต่อเดือนคงที่ (ปรับสัดส่วนการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยในค่าผ่อนต่องวด) เช่น สินเชื่อบ้าน จึงมองว่าผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นจะเบากว่าสินเชื่อธุรกิจ แต่ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น มีโอกาสส่งผลต่อเนื่องถึงแนวโน้ม Credit Cost ในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวของ ธปท. (ผ่อนผันการจัดชั้นลูกหนี้) ที่ยังมีอยู่จนถึงสิ้นปี 2566 คาดช่วยให้สินเชื่อ NPL เกิดใหม่ (NPL Formation) ของแต่ละธนาคารยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ จึงประเมินว่า Credit Cost ในปี 2566 จะคงอยู่ในกรอบเป้าหมายทางการเงินที่แต่ละธนาคารจะเปิดเผยหลังประกาศงบไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ก่อนวันที่ 21 มกราคม

ในเบื้องต้น คงประมาณการเดิมสำหรับกลุ่มธนาคาร ให้น้ำหนักกับคุณภาพสินทรัพย์เรียงตามความชอบดังนี้ TISCO (ราคาเป้าหมาย 105 บาท) รองลงไปเป็น BBL (ราคาเป้าหมาย 159 บาท ) ถัดไปเป็น KTB (ราคาเป้าหมาย 20.30 บาท) ตามมาด้วย KBANK (ราคาเป้าหมาย 180 บาท) และ SCB (ราคาเป้าหมาย 132 บาท)

ส่วนฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ฟิลลิป (PLS) คาดกำไรของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้น 17.2% จากประมาณการเดิมที่ 2 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 2.3 แสนล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2565 อีก 25% โดยธนาคารขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น BBL (ราคาเป้าหมาย 159 บาท) KBANK (ราคาเป้าหมาย 175 บาท) หรือ SCB (ราคาเป้าหมาย 145 บาท) แต่จากโครงสร้างของสินเชื่อและเงินฝาก เชื่อว่า BBL จะเป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุด โดยคาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น 29% จากประมาณการเดิม และสูงกว่าปี 2565 ถึง 48% คิดเป็นราคาเหมาะสม 159 บาท

ขณะที่ฝายวิเคราะห์หลักทรัพย์ไพ (PI) และทิสโก้ (TSC) เลือก BBL เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารเช่นเดียวกัน เพราะคาดกำไรโตมั่นคงในปีนี้และปีหน้า อีกทั้งงบดุลแข็งแกร่งมากพอที่จะต้านทานความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ขณะที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นมากที่สุด ที่สำคัญ มูลค่าหุ้นยังไม่แพง ปัจจุบันซื้อขายที่้ -1SD ต่อค่าเฉลี่ย ย้อนหลัง และให้ราคาเป้าหมายปีหน้าใกล้เคียงกัน ที่ 171 บาท และ 173 บาท ตามลำดับ

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้