2789 จำนวนผู้เข้าชม |
การที่ปี 2566 เป็นปีที่ตลาดหุ้นต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งรวมถึง กนง. (25 ม.ค. 65) ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ หรือการอยู่ในช่วงปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อรับมือกับการเดินหน้าเก็บภาษีซื้อขายหุ้น ตลอดจนแรงขายจาก LTF ที่ครบกำหนด ทำให้การลงทุน “หุ้นปันผลเด่น” กลายเป็นกลยุทธ์ที่คลาสสิก และมีความโดดเด่นในช่วงไตรมาสแรกของปีเสมอ ด้วยปัจจัยสนับสนุนดังนี้
ประการแรก หุ้นปันผลมีเกราะป้องกันเวลาที่ตลาดผันผวนได้ดี สะท้อนจากสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี มีช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทยปรับฐานแรง 11 ครั้ง แต่ดัชนี SETHD ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนการลงทุนหุ้นปันผลสูง จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าถึง 9 ใน 11 ครั้ง โดยหุ้นที่มี Dividend Yield ยิ่งสูง ความผันผวนของราคาหุ้นจะยิ่งต่ำลง เมื่อวัดจากค่า Beta
ประการที่สอง การลงทุนหุ้นปันผลสูงในไตรมาสแรกของปี (ไม่นับค่าผิดปกติ หรือ Outlier ช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ช่ซึ่งเกิดวิกฤตโควิด-19) จะให้ผลตอบแทนชนะตลาดราว 3% เมื่อวัดจากปี 2558- 65 สะท้อนผ่าน SETHD ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในไตรมาสแรกสูงถึง 8.2% สูงกว่าดัชนีตลาดที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 5.2%
จากการคัดกรองหุ้นปันผลสูง ที่น่าทยอยสะสมตั้งแต่ช่วงท้ายปีก่อน จนถึง 3 เดือนแรกปีนี้ ฝ่ายวิจัยเอเซีย พลัส (ASPS) นำเสนอหุ้นปันผลสูงใน 3 ลักษณะ
1. หุ้นปันผลสูง จ่ายปีละครั้ง ชอบ TISCO AP ASK NOBLE
2. หุ้นปันผลสูง ผันผวนต่ำ ชอบ QH DCC TTW EGCO
3. หุ้นปันผลสูง มี ESG Score สูง ชอบ SCB PTT ADVANC
สำหรับหุ้นปันผลสูง Top picks ฝ่ายวิจัย ASPS เลือก AP, ASK, NOBLE, TTW ADVANC และ SCB
ส่วนฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ทิสโก้ (TSC) บอกว่า การลงทุนในหุ้นปันผลช่วงเวลานี้ นอกจากจะได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยช่วง 2 ปีนี้ อย่างน้อยในอัตรา 3% ซึ่งเป็นเกราะกำบังการลงทุนในภาวะตลาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงได้แล้ว ยังมีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) อีกด้วย เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มลดลง จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอย ซึ่งเมื่อกลั่นกรองตัวเลือกต่างๆ ค่าย TSC คัดได้หุ้น 5 ตัว คือ AP, BAM, BTSGIF, KKP และ ICHI