2355 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัจจุบันประเทศไทยมีร้านขายยากว่า 20,000 ร้านทั่วประเทศ โดย 80% เป็น SME มีเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นของแฟรนไชส์หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่มูลค่าตลาดที่เกี่ยวกับเทรนด์สุขภาพเติบโตอย่างมาก หลังการระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลล่าสุด ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาดกว่า 40,000 ล้านบาท และมีการคาดหมายกันว่าจะเห็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 13-17% เพราะคนไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ช่องว่างบริการสาธารณสุขไทยจึงกลายเป็นโอกาสของธุรกิจ Health Tech ในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ระบบบริการสาธารณะสุขของภาครัฐ ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนบริการสาธารณสุขของภาคเอกชน ทั้งคลินิก และโรงพยาบาล ต่างก็กระจุกตัวในเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ และมาพร้อมค่าบริการที่สูง ทำให้ร้านขายยาและเภสัชกรชุมชน คือประตูเปิดให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ดีขึ้น และเมื่อเกิดการเชื่อมโยงระบบนิเวศเกี่ยวกับบริการสาธารณสุขบนแพลตฟอร์ม ก็จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
ความสำคัญของระบบสาธารณสุข และเทรนด์การเติบโตของธุรกิจ Health Tech ทำให้ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) และ บมจ. โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ผนึกกำลังกับบริษัท อรินแคร์ (ARINCARE) เข้าไปช่วยสนับสนุนบริษัท อรินแคร์ (ARINCARE) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์สำหรับเภสัชกรและร้านขายยา โดย CHG เป็นผู้ลงทุนหลักในสัดส่วน 25% ขณะที่ PTG ร่วมลงทุนในสัดส่วน 10%
โอกาสนี้ นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTG ชี้แจงว่า การเข้าไปร่วมลงทุนกับ ARINCARE ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการต่อยอดและเติมเต็ม Health Tech Ecosystem ของไทย รวมถึงเป็นการเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง ผ่าน MAX Ventures ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PTG ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการเป็น Corporate Venture Capital และเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ที่มีศักยภาพสูงทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และเพิ่ม New S-Curve ให้กับ PTG ผ่านการเสริมศักยภาพให้สถานีให้บริการน้ำมัน PT ทั่วประเทศเป็นสถานีบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการรอบด้าน ทั้งร้านค้า และร้านขายยา NEXX Pharma ให้มีบริการทั้งจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ โดยเภสัชกรผู้มีประสบการณ์ทั่วประเทศ และเติมเต็ม "ชีวิตที่อยู่ดี มีสุข" ให้กับสมาชิกบัตร Max Card ได้ครบถ้วนมากขึ้น
"การรุกธุรกิจลงทุนใน Health Tech ครั้งนี้ บริษัทฯ มองว่าเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตที่น่าสนใจ เพราะร้านขายยาในชุมชนและเภสัชกร เปรียบเสมือนเป็นด่านหน้าในการดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน ให้สามารถเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และการบริการดูแลสุขภาพที่รวดเร็วในราคาที่ประหยัด ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้คนไทยสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจเรื่องของสุขภาพและการดูแลตัวเองมากขึ้น โดย PTG ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคนไทย เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่อยู่ดี มีสุข ในทุกด้านของช่วงชีวิต” นายพิทักษ์ ชี้ประเด็น
ส่วนนายธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ARINCARE เผยว่า การได้กลุ่ม CHG และ PTG ร่วมเป็นพันธมิตรในการระดมทุนรอบล่าสุด ด้วยเงินทุนมูลค่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนให้บริษัทฯ พร้อมเดินหน้ายกระดับและต่อยอดระบบนิเวศ Health Tech ไทยได้ตามโรดแมปที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งสร้างประโยชน์สำหรับร้านขายยาและเภสัชกร รวมถึงช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น หลังจากในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถขยายกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นจนมีอัตราการเติบโตกว่า 100%
"การได้พันธมิตรครั้งนี้ ช่วยให้บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าขยายตลาดปีนี้ ผ่านความร่วมมือกับกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ มุ่งสร้าง Healthcare ecosystem ที่สมบูรณ์ ระหว่างโรงพยาบาล และหน่วยบริการสุขภาพท้องถิ่น เชื่อมโยงไปถึงเภสัชกรในร้านยาชุมชนบนเครือข่าย ARINCARE มากกว่า 3,000 ราย และทีมแพทย์ของ CHG เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพคนในชุมชนได้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ ยังสามารถอาศัยฐานสมาชิก MaxCard ของ PTG ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคคนไทยได้มากที่สุด ช่วยเสริมแกร่งให้กับเภสัชกรและร้านยาชุมชนที่เป็น SME ท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพิ่มการดูแลและบริการด้านสุขภาพให้กับคนไทยได้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการที่บริษัทฯ จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2569 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" นายธีระ เล่าให้ฟัง
ขณะที่ นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการบริหาร CHG กล่าวเสริมว่า ด้วยแนวคิดและทิศทางธุรกิจของ ARINCARE ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ทำให้เล็งเห็นถึงโอกาสของการต่อยอดธุรกิจที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ในการร่วมสนับสนุนธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพให้เข้าถึงในระดับชุมชน ต่อยอดการเติบโตระบบนิเวศของ Health Tech ยกระดับปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุขให้มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมากขึ้น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการดูแลทั้งผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) สร้างการยกระดับบริการแบบไร้รอยต่อสู่คุณภาพชีวิตที่ดี
"การนำเอาเทคโนโลยีที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ARINCARE โดยเฉพาะระบบ e-prescription ซึ่งเป็นการแชร์ข้อมูลของผู้ป่วยให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง พร้อมกับนำเอาเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยประมวลผลการวินิจฉัยให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการรักษาและรับยาได้สะดวกขึ้น ลดปัญหาการใช้ใบสั่งยาที่คลาดเคลื่อน ใบสั่งยาปลอม การแอบนำไปใช้ซ้ำได้แล้ว ยังช่วยให้แพทย์สามารถติดตามตรวจสอบผลการดูแลรักษาผู้ป่วย ดูประวัติใบสั่งยา ข้อมูลยาที่ผู้ป่วยได้รับใช้งานง่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย และยกระดับบริการสาธารณสุขในประเทศไทยให้ดีขึ้นควบคู่กันไป" นพ. กำพล สรุปทิ้งท้าย
สำหรับความเห็นของนักวิเคราะห์ ในเบื้องต้น ดาโอ (DAOL) มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยจากประเด็นนี้ เนื่องจากการร่วมทุนครั้งนี้ จะเชื่อมโยงเภสัชกรในร้านขายยาชุมชนบนเครือข่าย อรินแคร์ มากกว่า 3,000 ราย เข้ากับทีมแพทย์ของ CHG เพื่อเพิ่มความสามารถในการดูแลสุขภาพชุมชนได้ทั่วถึงมากขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทาง CHG ถือหุ้น 25% ในอรินแคร์เป็นมูลค่า 34 ล้านบาท ซึ่งมองว่าการลงทุนนี้ค่อนข้างเล็ก แต่ในระยะยาว คาดว่าจะเป็นโอกาสเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับ CHG จึงไม่มีผลต่อผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ จึงยังคงแนะนำ "ขาย" เพราะประเมินราคาเป้าหมายที่ 2.60 บาท อิง PER ที่ 26 เท่า
ขณะที่มองบวกเล็กน้อย ต่อ PTG เพราะถือเป็นการลงทุนธุรกิจใหม่ ซึ่งใช้ประโยชน์จากฐานสมาชิกของ PTG ได้ อย่างไรก็ตาม การถือหุ้น 10% เป็นมูลค่าลงทุนราว 14 ล้านบาท ค่อนข้างเล็ก และต้องใช้เวลาสร้าง Financial Impact ต่อผลประกอบการของ PTG จึงยังคงแนะนำ "ซื้อ" โดยมีราคาเป้าหมายที่ 18.50 บาท อิง PER ที่ 21 เท่า