แนะรอจังหวะซื้อ BBL หลัง upside เริ่มจำกัด แม้กำไรปีกระต่ายจะโดดเด่นกว่าปีเสือ

3199 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แนะรอจังหวะซื้อ BBL หลัง upside เริ่มจำกัด แม้กำไรปีกระต่ายจะโดดเด่นกว่าปีเสือ


บมจ. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายปีก่อน มีกำไร 7,569 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สาเหตุจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล ประกอบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจากกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรม รวมทั้งรายได้เงินปันผลลดลง แต่เพิ่มขึ้น 19.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ปรับตัวดีขึ้น และการตั้งสำรองที่ลดลง

ส่วนผลดำเนินงานรวมทั้งปี ธนาคารมีกำไรสุทธิ 29,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% YoY หนุนโดยการลดลงของภาระการตั้งสำรอง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 21.7% ตามการเติบโตของสินเชื่อ และ NIM ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.32% เป็น 2.42%

โดยเงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 94,352 ล้านบาท หรือ 3.6% จากสิ้นปีก่อนหน้า เป็น 2.68 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงาน ลดลง 15,731 ล้านบาท หรือ 30.0% YoY ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.6% เทียบกับ 3.9% ในปีก่อนหน้า และมีอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 260.8% ส่วนอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.1% ลดลงจากปีก่อนหน้า 0.5%  

ผลดำเนินงานของ BBL ถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาด แต่คาดจะมีทิศทางดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ เพราะเริ่มเห็นพัฒนาการเชิงบวกในหลายส่วน โดยเฉพาะ NIM ที่เร่งตัวขึ้น การตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง และหนี้เสียที่ปรับตัวลง ช่วยหนุนให้ผลดำเนินงานปีนี้มีโอกาสจะสูงกว่าประมาณการเดิม ถึงแม้กำไรไตรมาสสุดท้ายปีก่อน และกำไรทั้งปีที่ต่ำกว่าคาด จะสร้างแรงกดดันต่อราคาหุ้น อันเนื่องมาจากการตีมูลค่าเงินลงทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรม



หยวนต้า (YUANTA) มองบวกมากที่สุด โดยระบุว่า การที่ BBL เป็นธนาคารที่โดดเด่นในการให้บริการลูกค้ากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ อีกทั้งยังคาดการตั้งสำรองมีแนวโน้มผ่อนคลายลงจากปีก่อน เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อแข็งแรงกว่าธนาคารใหญ่รายอื่น และลูกหนี้ในพอร์ตเริ่มมีความสามารถในการชำระหนี้สูงขึ้น ประกอบกับธนาคารมี Coverage Ratio สูงกว่าอุตสาหกรรม จะผลักดันให้กำไรไตรมาสแรกปีนี้มีแนวโน้มเติบโตทั้ง YoY และ QoQ ขณะเดียวกัน ยังคาดเห็นพัฒนาการใหม่ๆ ของ Permata ที่มีแผนรุกขยายธุรกิจรายย่อย และ SME มากขึ้นในปีนี้ด้วย ทำให้ประเมินกำไรปีนี้จะเติบโตจากปีก่อน 15.5% มาอยู่ที่ 33,850 ล้านบาท

ยิ่งราคาหุ้นล่าสุด ซื้อขายที่ P/BV ต่ำ เพียง 0.6 เท่า ทำให้มี Upside 13.3% จากมูลค่าพื้นฐานเดิมที่ 175 บาท ไม่นับรวมเงินปันผลจากผลดำเนินงานงวดครี่งหลังปีก่อนอีกราว 3 บาท คิดเป็น Div.Yield 1.9% จึงแนะนำ "ซื้อ"

ส่วนเอเซีย พลัส (ASPS) บอกว่า ในเบื้องต้น คงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 7% YoY แต่มี Upside จาก NIM ที่เพิ่มตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะทบทวนประมาณการอีกครั้งหลังการประชุมนักวิเคราะห์ช่วง 13-17 กุมภาพันธ์ ซึ่ง BBL จะมีการเปิดเผยเป้าหมายทางการเงินปีนี้อีกครั้ง

สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาสแรก คาดเติบโตทั้ง QoQ และ YoY เป็น 8 พันล้านบาท จากการรับรู้ผลบวกจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ช่วงไตรมาสสุดท้ายปีก่อนเต็มไตรมาส และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีแนวโน้มต่ำลงตามปัจจัยฤดูกาล ขณะที่การควบคุมคุณภาพสินเชื่ิอยังทำได้ดี

ภายใต้ประมาณการเดิม ประเมินราคาเหมาะสมได้ที่ 159 บาท อิง P/BV ที่ 0.56 เท่า พร้อมคงคำแนะนำ "ซื้อ" เพราะชอบที่ธนาคารมีพัฒนาการของรายได้ดอกเบี้ยเด่นชัด และการมีอัตราการกันสำรองที่แข็งแกร่งสุดในกลุ่มธนาคาร อีกทั้งการลงทุนยังจะได้เงินปันผลงวดครึ่งหลังปีก่อนที่คาดจะจ่าย 2.75 บาทต่อหุ้น อิงจากสมมติฐานทั้งปีที่ 4.25 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตาม กสิกรไทย (KS) กลับแนะนำแค่ "ถือ" ถึงแม้จะชอบ BBL จากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่มองเห็น upside ที่จำกัดต่อราคาเป้าหมายที่ 161 บาท เพราะคาดว่า ROE จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้