มอง COTTO upside จำกัด หลัง SCG Décor ผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกาศตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน เพิ่มความคุ้มค่าผู้ถือหุ้น

3230 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มอง COTTO upside จำกัด หลัง SCG Décor ผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกาศตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน เพิ่มความคุ้มค่าผู้ถือหุ้น


นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ (SCG Décor) และ กรรมการผู้จัดการ บมจ. เอสซีจี เซรามิกส์ (COTTO) เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเร่งขยายการเติบโตไปในภูมิภาคอาเซียนอย่างรวดเร็ว ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกระดับได้อย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งธุรกิจกระเบื้องปูพื้น บุผนัง หรือเรียกรวมว่าธุรกิจตกแต่งพื้นผิว และธุรกิจสุขภัณฑ์ และช่องทางจำหน่ายทั้งในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทาง SCG Décor ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน COTTO (ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 82.25%) และเป็นบริษัทแกนนำ (Flagship) ของกลุ่ม บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) จึงเห็นควรปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร และผู้ถือหุ้น ด้วยการเพิกถอน COTTO ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และนำเอา SCG Décor เข้าจดทะเบียนแทน โดยเตรียมขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น COTTO ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ เพื่ออนุมัติแผนปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด และต้องไม่มีผู้ถือหุ้น COTTO คัดค้านการเพิกถอนหลักทรัพย์เกินกว่า 10%

ทั้งนี้ หากไม่นับ COTTO SCG Décor ยังมีกลุ่มบริษัทย่อยอีก 4 แห่ง ประกอบไปด้วย

1.) บริษัท สยามซานิทารีแวร์ (SSW) ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศ ที่มียอดขายสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 32.8% 
2.) Prime Group ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งตลาด 26.4% เป็นอันดับ 1 ในเวียดนาม 
3.) Mariwasa-Siam Ceramics (MSC) ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในฟิลิปปินส์ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 16.8% เป็นอันดับ 1 ในฟิลิปปินส์  
4.) PT Keramika Indonesia Assosiasi (KIA) ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูงจากจำนวนประชากร 274 ล้านคน มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน  

 

สำหรับผลดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2563– 2565) มีการเติบโตของยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 2.43 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2.59 หมื่นล้านบาท และ 3.02 หมื่นล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการส่งออกกว่า 4,500 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของรายได้รวม จากการส่งออกสินค้าไปในตลาดอาเซียน และประเทศอื่น ๆ รวมกว่า 53 ประเทศ

ขณะที่นายสมิทธิ โกสีย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน SCG Décor ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้น COTTO ที่เปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้นของ SCG Décor จากฐานรายได้และฐานลูกค้าที่โตกว่าเป็นเท่าตัว และโอกาสเติบโตที่สูงมากในฐานะผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิว และธุรกิจสุขภัณฑ์ ทั้งในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่และมีศักยภาพสูง ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 560 ล้านคน มีมูลค่าตลาดกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์ รวมกันกว่า 1.9 แสนล้านบาท 

โดยเมื่ออ้างอิงข้อมูลจาก Euromonitor บริษัทที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถิติเเละข้อมูลการตลาด การวิเคราะห์เทรนด์ในหลายอุตสาหกรรม พบว่า ตลาดกระเบื้องเซรามิกในไทย น่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ช่วงปี 2565-2569 ราว 1.2% ขณะที่ตลาดรวมในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คาดเติบโตเฉลี่ย 7.1% ส่วนตลาดสุขภัณฑ์ในไทยน่าจะเติบโตเฉลี่ย 2.1% เทียบกับตลาดรวม 3 ประเทศที่เติบโตเฉลี่ยถึง 8.6%

 

สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการนั้น หลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น COTTO มีมติอนุมัติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์แล้ว ทาง SCG Decor จะยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ยื่นแบบ Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ภายหลังจากแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ โดย SCG Décor จะเริ่มทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ COTTO ในราคาหุ้นละ 2.40 บาท และชำระค่าหุ้นเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCG Décor เท่านั้น ซึ่งจะเกิดในช่วงเวลาเดียวกันกับการเสนอขายหุ้น IPO ของ SCG Decor หลังจากการทำคำเสนอซื้อสิ้นสุดลง COTTO จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผู้ถือหุ้น COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCG Décor จากนั้น SCG Décor จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป แต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสัดส่วนในการแลกหุ้นระหว่าง COTTO และ SCG Décor

พร้อมกันนี้ ผู้บริหาร SCG Décor ยังให้ความมั่นใจผู้ถือหุ้น COTTO ด้วยการเปิดเผย 5 กลยุทธ์สร้างการเติบโตสู่ผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิว และสุขภัณฑ์ครบวงจรในอาเซียน ได้แก่

1. ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ (Bathroom) จากไทย เพื่อก้าวสู่ผู้นำในอาเซียน โดยนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ "COTTO Smart Toilet" ตอบโจทย์เทรนด์ด้านสุขภาพและอนามัย  

2. ต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิว ทั้งในไทยและอาเซียน โดยประยุกต์เอาโมเดลธุรกิจที่เข้มแข็งของไทย มาเร่งสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการผลักดันแบรนด์ในทุกประเทศให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น PRIME ในเวียดนาม MARIWASA ในฟิลิปปินส์ หรือ KIA ในอินโดนีเซีย พร้อมเสริมความแข็งแกร่งทุกช่องทางการขาย และขยายการส่งออกไปทั่วโลกด้วยนวัตกรรมการออกแบบและวิจัย มานำเสนอสินค้าที่หลากหลายตอบทุกไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่กลุ่มประหยัด กลุ่มมาตรฐาน และกลุ่มพรีเมียม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น LT แผ่นปูพื้น Smart Flexible by COTTO, AIR ION กระเบื้องฟอกอากาศ และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งผลิตภัณฑ์ติดตั้งและซ่อมแซม ปูนกาว ยาแนว


 

 

3. ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจร ด้วยโซลูชั่นแบบครบวงจรจากการผนึกกำลังของบริษัทในกลุ่มและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 

4. ผสานความร่วมมือระหว่างฐานการผลิตในภูมิภาคและบริษัทในกลุ่ม เพื่อบริหารกำลังการผลิตและควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงสรรหาผลิตภัณฑ์ชั้นนำจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก 

5. พัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก และกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดของเสียจากการผลิตและนำกลับมาหมุนเวียนเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อสร้างรายได้ ลดต้นทุนพลังงานด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มุ่งบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 (NET ZERO 2050) สอดคล้องกับแนวทาง ESG เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับโลก

เบื้องต้น ค่ายหยวนต้า (YUANTA) รับว่า แผนปรับโครงสร้างธุรกิจมีความคุ้มค่า เพราะผู้ถือหุ้น COTTO จะกลายเป็นผู้ถือหุ้น SCG Décor ที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ครอบคลุมสุขภัณฑ์รายใหญ่ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 33% ของ SSW ธุรกิจผลิตกระเบื้องเบอร์ 1 ของเวียดนาม Prime และเบอร์ 1 ของฟิลิปปินส์ MSC ที่มีส่วนแบ่งตลาด 26% และ 17% ตามลำดับ สามารถกระจายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนที่จำนวนประชากรสูง และเศรษฐกิจมีอัตราเติบโต 8-10% สูงกว่าไทย หนุนให้ความสามารถสร้างรายได้และทำกำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว และระยะยาวยังมีการเติบโตจากการบริหารงานร่วมกัน (Synergy) และการลงทุนใหม่ๆ หลังได้รับเงินทุนจากการ IPO ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนภายหลังการทำ Book Building ที่เกิดในครึ่งปีหลัง

 



อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมครั้งนี้ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ทำให้คาดว่า Upside ของราคาหุ้น COTTO ช่วง 6 เดือนข้างหน้า อาจถูกจำกัดด้วยราคา Tender offerที่ 2.40 บาท และจ่ายเป็นหุ้นเพิ่มทุนของ SCG Décor เท่านั้น  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้