เชื่อแนวโน้มกำไร SCBX ดีขึ้นเป็นลำดับ คงราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 131 บาท

3386 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เชื่อแนวโน้มกำไร SCBX ดีขึ้นเป็นลำดับ คงราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 131 บาท


หลังจาก บมจ. เอสซีบี เอ็กซ์ (SCBX) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 10,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9.5% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายปีก่อน 54% สาเหตุจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยดีกว่าคาด โดยเติบโต 34.1% จากสิ้นปีก่อน หลังพลิกมีกำไรจากเงินลงทุนราว 1,127 ล้านบาท จากที่บันทึกผลขาดทุน 1,567 ล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า และเริ่มเห็นการฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียม ทั้งในส่วนของธุรกรรม และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจ Wealth Management  หนุนด้วยรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน 17% ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ลดลง 1.4% จากสิ้นปีก่อน เพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับลงเล็กน้อยจากไตรมาสสุดท้ายที่ทำได้ 3.54% มาอยู่ที่ 3.46% สาเหตุจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 0.55% แต่สามารถชดเชยได้จากการขยายตัวของสินเชื่อรวมที่เติบโต 3.1% โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 19.7% ส่งผลให้ Cost to Income Ratio ปรับลดจาก 54.5% ในสิ้นปีก่อน เป็น 41.0%  

สำหรับสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดจาก 3.34% ในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน มาอยู่ที่ 3.32% อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) รวม 9,927 ล้านบาท หลังพบว่าลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งเริ่มมีสัญญาณคุณภาพหนี้เสื่อมถอย ส่งผลให้เงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage ratio) เพิ่มเป็น 163.8% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนที่  159.7% ขณะที่อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงเล็กน้อยเป็น 18.6%

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX ได้ออกมาย้ำว่า กลุ่มบริษัทฯ ยังคงยึดมั่นเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ ว่า จะมีการเติบโตของสินเชื่อระดับ 3-5% รักษาระดับ NIM ที่ 2.9-3.0% ส่วนเป้ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยโตเป็นหลักเดียว แต่พร้อมคุม cost to income ให้ได้ในกรอบ 40-45% และคุม NPL ต่ำกว่า 4% โดยมี credit cost ไม่เกินกว่า 130%

พร้อมกันนี้ ยังมีคำอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า Cost to Income Ratio จะค่อยๆ สูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป เพราะการดำเนินธุรกิจธนาคารไม่น่าจะมีการตั้งสำรองพิเศษอีก ส่วนหนึ่งจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และ management overlay ที่มีน่าจะเพียงพอแล้ว เนื่องจากกว่า 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยมีมูลค่าหลักประกันสูง

สำหรับธุรกิจเจเนอเรชั่นที่ 2 (ธุรกิจคอนซูเมอร์ และบริการการเงินดิจิทัล) น่าจะเห็นการเติบโตของกำไรเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วน 15% ของกำไรกลุ่ม SCBX ในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ธุรกิจเจเนอเรชั้นที่ 3 (ธุรกิจแพลตฟอร์มและสินทรัพย์ดิจิทัล) จะเริ่มเห็นผลขาดทุนลดลงตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จากการที่โรบินฮู้ด (Robinhood) จะเริ่มลดการให้เงินอุดหนุนเครือข่ายผู้ค้า และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการเรียกรถ และโปรเจครถยนต์ไฟฟ้า




สำหรับมุมมองนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ แทบทุกสำนัก ออกมายืนยันตรงกันว่า ผลดำเนินงานไตรมาสแรกเป็นไปตามคาด แม้จะมีการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากลูกหนี้รายใหญ่ที่เกิดปัญหาแล้ว และมีโอกาสจะลดลงในไตรมาสที่เหลือ ขณะที่ NIM ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 2 ทำให้คงประมาณการกำไร และราคาเป้าหมายปีนี้ตามเดิม  

ดาโอ (DAOL) และกสิกรไทย (KS) คิดคล้ายๆ กันว่า กำไรไตรมาสแรกเป็นไปตามคาด ทำให้ยังคงประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีตามเดิม โดย DAOL คาดกำไรปีนี้ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 13% ส่วน KS คาดกำไรปีนี้ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 9% จากการตั้งสำรองที่ลดลง และเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่เต็มปี จึงคงราคาเป้าหมายตามเดิม โดย DAOL ให้มูลค่าเหมาะสมที่ 130 บาท อิง P/BV ที่ 0.90 เท่า เทียบเท่า -1.25 SD ต่อค่าเฉลี่ย 10 ปี ใกล้เคียงกับ KS ที่ให้ไว้ 129 บาท

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 สำนัก คาดแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 2 จะทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก จากค่าใช้จ่ายที่ลดลงตามฤดูกาล

หยวนต้า (YUANTA) ยังคงประมาณการเดิม โดยคาดแนวโน้มผลดำเนินงานไตรมาส 2 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสแรกปีนี้ และจากช่วงเดียวกันปีก่อน หนุนจากการทยอยปรับลดค่าใช้จ่ายตั้งสำรอง หลังกลุ่ม SCBX ผ่านการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากลูกหนี้รายใหญ่ที่เกิดปัญหาแล้ว ขณะที่ลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเริ่มมีสัญญาณการชำระหนี้ดีขึ้น เนื่องจากราว 1 ใน 3 ของลูกหนี้ดังกล่าวอยู่ในธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม มีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากขึ้น ขณะที่แนวโน้ม NIM จะขยับขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่เหลือของปี ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ และการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อกลุ่ม Consumer Finance ที่ให้ผลตอบแทนสูง

ขณะที่ในครึ่งปีหลัง กลุ่มบริษัทฯ มีแผน refinance ตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เสนอขายในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจ มาเป็นตราสารหนี้สกุลเงินบาท ที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำลง หนุนให้กำไรปีนี้อยู่ที่ 4.75 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 26.6% คิดเป็นราคาเป้าหมายที่ 144 บาท อิง P/BV ที่ 1.0 เท่า

เช่นเดียวกับทรีนีตี้ (TNITY) ที่ระบุว่า จะเห็นการเติบโตของสินเชื่อ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และ SME ซึ่งฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ หนุนด้วยการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย ภายใต้บริษัทย่อยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ SCBX ด้าน NIM คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องเพิ่มเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) แต่ก็ได้ผลบวกจากดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น บวกกับการขยายสินเชื่อในกลุ่ม High Yield ส่วนการตั้งสำรองในระดับสูงในไตรมาสแรก น่าจะครอบคลุมความเสี่ยงทั้งปีได้แล้ว และมีโอกาสจะลดลงในไตรมาสที่เหลือ แต่เพื่อความระมัดระวังจึงตั้งสมมติฐาน Credit Cost ที่ 1.65% ทำให้คงราคาเป้าหมายที่ 145 บาท อิง P/BV 1.01 เท่า ด้วยระดับ Upside ที่ยังน่าสนใจ จึงยังคงคำแนะนำ ซื้อ

สำหรับราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่สำรวจโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Concencus) ให้ไว้ที่ 131 บาท

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้