KBank Private Banking และ SCB CIO ชี้กลยุทธ์ลงทุนไตรมาส 3 เลี่ยงหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาล

3647 จำนวนผู้เข้าชม  | 

KBank Private Banking และ SCB CIO ชี้กลยุทธ์ลงทุนไตรมาส 3 เลี่ยงหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาล


นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกที่ใกล้จะผ่านไป ถือเป็นอีกปีที่แวดวงการลงทุนต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ภาวะเงินเฟ้อที่แม้จะอยู่ในขาลง แต่ก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และยุโรป (ECB) รวมไปถึงเรื่องดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่แน่นอนว่าผ่านจุดสูงสุดไปหรือยัง ความท้าทายเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนให้มีความผันผวนสูง

นอกจากนี้ ผลการประชุมของธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลก ครั้งล่าสุด อย่าง FED ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.00–5.25% ตามคาด แต่ตลาดเริ่มมองว่าอาจมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1-2 ครั้ง ในปีนี้ สะท้อนภาพการ "หยุดชั่วคราว" แต่ยัง "ไม่สิ้นสุด" ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ติดต่อกันเป็นครั้งที่แปด มียกเว้นในกรณีของธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่ประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบเหนือคาดหมายตลาด

จากการวิเคราะห์ของ KBank Private Banking และ Lombard Odier พบว่า เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง และมีความเป็นไปได้ว่า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และยุโรปใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว เนื่องจากตลาดแรงงานยังอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่งเกินกว่าที่ธนาคารกลางจะผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ จึงตีความได้ว่า ธนาคารกลางต่างๆ น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ระยะหนึ่งในครึ่งปีหลัง 




ดังนั้น จึงแนะนำ 3 กลยุทธ์การลงทุนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง กลยุทธ์แรก Stay Invested แนะนำให้นักลงทุนลงทุนตลอดเวลา เพราะจะช่วยสร้างผลตอบแทนได้ ดีกว่าการซื้อๆ ขายๆ หรือการทำ Market Timing กลยุทธ์ที่สอง ยึดหลักการกระจายการลงทุน โดยใช้ความเสี่ยงของสินทรัพย์ หรือ Risk-based Allocation และกลยุทธ์ที่สาม ให้แบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Alternative Inv estments) ที่ไม่ว่าตลาดทุนจะผันผวนอย่างไร แต่ราคาสินทรัพย์กลับไม่ได้ผลกระทบ เนื่องจากราคาของสินทรัพย์นอกตลาดจะขึ้นกับผลการดำเนินที่แท้จริง 

สำหรับแนวทางการลงทุนไตรมาส 3 ที่จะถึงนี้ KBank Private Banking และ Lombard Odier ระบุว่า ควรรักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่โหมดชะลอตัว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ใกล้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ส่วนหุ้นกู้ ควรให้น้ำหนักกับหุ้นกู้ที่มี อันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) เพราะมีความเสี่ยงจากโอกาสผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำกว่า สำหรับหุ้นให้กระจายการลงทุนในหุ้นทั่วโลก ยกเว้นตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าอยู่ในเกณฑ์แพงแล้ว

ขณะเดียวกัน ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มองภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยแต่ไม่รุนแรง ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย แม้การฟื้นตัวในครึ่งปีแรกจะช้ากว่าคาด แต่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้น่าจะเริ่มเห็นภาพการหยุดขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งหลังปีนี้ ก่อนจะลดดอกเบี้ยในครึ่งแรกปีหน้า 

อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มยืดเยื้อ จนทำให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยรุนแรงกว่าที่คาด และกระทบเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ซึ่งพึ่งพิงการส่งออกในสัดส่วนสูงมาก และผลักดันให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต้องเร่งผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจมากขึ้น




ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนไตรมาส 3 ที่จะถึงนี้ ควรเน้นตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย ด้วยพันธบัตรรัฐบาล แทนหุ้นกู้ระดับลงทุนได้ (Investment Grade) ระดับกลาง หรือ medium grade (A+ ถึง BBB-) ซึ่งจะถูกกระทบจากส่วนต่างของผลตอบแทน (spread) อันเนื่องมาจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย พร้อมลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นยุโรป ซึ่งมีโอกาสได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงที่ยืดเยื้อ เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth) ของสหรัฐฯ ที่มูลค่าเริ่มตึงตัวแล้ว และเปลี่ยนไปลงทุนหุ้นกลุ่มเชิงรับ (Defensive) ในสหรัฐฯ ซึ่งผลกำไรแข็งแกร่ง แม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงมูลค่ายังน่าสนใจ อย่างหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (Utilities) หรือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Consumer staples) รวมถึงเพิ่มสัดส่วนหุ้นในตลาดเกิดใหม่เอเชีย เน้นหุ้นจีน กระดาน A-share ที่มูลค่าน่าสนใจ และหุ้นไทย ที่ยังมีมูลค่าถูกกว่าตลาดหุ้นอื่นในอาเซียน แทน

ขณะเดียวกัน ควรกระจายเงินลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedge) ในสัดส่วน 5-10% เพราะในช่วงที่เงินเฟ้อสูงมากกว่าตลาดคาด หุ้นและพันธบัตรมักจะเคลื่อนไหวแปรผันตามกัน (correlation เป็นบวก) ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์จะเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กับหุ้น และพันธบัตร (correlation เป็นลบ) ดังนั้น จึงทำหน้าที่กระจายความเสี่ยงได้ดี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้