4362 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท. สผ. (PTTEP) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 2.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก (QoQ) 9% ดีกว่าตลาดคาด สาเหตุหลักจากมีรายการพิเศษบันทึกกำไรจาก Oil Price Hedging ราว 983 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนในไตรมาสก่อนหน้า 1.4 พันล้านบาท ชดเชยกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 633 ล้านบาท ตามค่าเงินบาทที่อ่อนตัว ประกอบกับการเปลี่ยนสัญญาสัมปทานโครงการบงกช G2 ที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม มาเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังช่วยให้อัตราภาษีลดลงจาก 50% เหลือ 20%
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานปกติ จะพบว่า กำไรปรับลดลง 9% YoY และ 1% QoQ มาอยู่ที่ 1.98 หมื่นล้านบาท ฉุดจากยอดขายและราคาขายเฉลี่ยลดลง โดยราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ (มีสัดส่วนยอดขายก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่ 73% และ 27%) ปรับลดลง 9% QoQ และ 18% YoY มาอยู่ที่บาร์เรลละ 45.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนยอดขายลดลง 4% YoY และ 3% QoQ เหลือวันละ 4.45 แสนบาร์เรล นอกจากนี้ ยังถูกกดดันจากต้นทุนต่อหน่วยที่สูงขึ้น จากบาร์เรลละ 26.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสแรก มาเป็นบาร์เรลละ 26.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนผลดำเนินงานรวมงวดครึ่งปีแรก PTTEP ทำกำไรปกติได้ 4.0 หมื่นล้านบาท ลดลง 3% YoY ส่งผลให้บริษัทฯ ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 4.25 บาท เท่าปีที่ผ่านมา กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 15 สิงหาคมนี้ ก่อนจ่ายเงินในวันที่ 29 สิงหาคมตามมา
สำหรับแผนในการกระจายการลงทุนไปในธุรกิจใหม่ๆ มีความชัดเจนเพียงแค่ PTTEP พร้อมขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดเป็นพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น กรีนไฮโดรเจน กรีนอีเมทานอล โครงการเกี่ยวกับการดักจับและกักเก็บคาร์บอน รวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อขยายขอบเขตการทำธุรกิจใหม่ๆ เช่น งานตรวจซ่อมบำรุงใต้น้ำ งานตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน งานวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ลดการปล่อยและเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก งานทำ Digital Identity สำหรับหน่วยงานองค์กร และนิติบุคคล ซึ่งคงต้องใช้เวลาพัฒนาอีกสักระยะ ทำให้ภาพใหญ่ยังคงอยู่ที่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไป
ผู้บริหาร PTTEP ยังให้ข้อมูลแนวโน้มธุรกิจไตรมาส 3 ด้วยว่า มีสัญญาณดีขึ้นจากไตรมาส 2 จากยอดขายที่คาดจะเพิ่มขึ้น 6% เป็นวันละ 4.70 แสนบาร์เรล ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยมีโอกาสปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่พุ่งขึ้นมาแตะบาร์เรลละ 84 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากราคาเฉลี่ยในไตรมาส 2 ที่ 77 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขานรับการที่กลุ่ม OPEC+ ขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันลงวันละ 5.2 ล้านบาร์เรล ออกไปจนถึงเดือนกันยายน โดยประเมินราคาขายก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของบริษัทฯ ที่บาร์เรลละ 5.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วย คาดว่าจะปรับขึ้นมาอยู่ที่บาร์เรลละ 27-28 ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 26.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 2 เนื่องจากกำลังการผลิตในโครงการเอราวัณ (G1) และบงกช (G2) สร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น แต่ได้ราคาขายต่ำกว่าสัญญาแบบสัมปทานเดิม
ส่วนภาพทั้งปี บริษัทฯ คาดการณ์แนวโน้มยอดขายเฉลี่ยที่วันละ 4.64 แสนบาร์เรล (ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้วันละ 4.68 แสนบาร์เรล) ส่วนราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยอยู่ที่บาร์เรลละ 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ที่ 6.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และควบคุมต้นทุนต่อหน่วยให้ได้ที่บาร์เรลละ 27-28 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ผลดำเนินงานไตรมาส 2 ที่ดีกว่าตลาดคาด และความพยายามของกลุ่ม OPEC+ ที่จะรักษาระดับราคาน้ำมันดิบให้สูงกว่าบาร์เรลละ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายค่ายปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติ และราคาเป้าหมายของ PTTEP ตามมา ทำให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ยของ PTTEP อยู่ที่ 172.50 บาท
เอเซีย พลัส (ASPS) ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปีนี้และปีหน้าขึ้น 42.0% และ 41.7% มาที่ 7.8 หมื่นล้านบาท และ 6.4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สอดรับกับสมมติฐานยอดขาย และราคาขายก๊าซธรรมชาติทั้งปี ตามที่บริษัทฯ ให้ข้อมูล พร้อมกับปรับลดอัตราภาษีลงเหลือ 41% จาก 45% เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนสัญญาสัมปทานมาเป็น PSC ที่เอื้อให้อัตราภาษีลดลงจาก 50% เหลือ 20% ทำให้ปรับมูลค่าพื้นฐานปีนี้เพิ่มจากเดิม 5 บาท เป็น 178 บาท พร้อมแนะนำ ซื้อลงทุนระยะยาว แต่กับภาพระยะสั้น อาจเล่นรอบตามราคาน้ำมันได้
ด้านไพ (Pi) ปรับเพิ่มประมาณการกําไรสุทธิปีนี้และปีหน้าขึ้น 30% และ 45% เป็น 7.66 หมื่นล้านบาท และ 8.21 หมื่นล้านบาท ตามลําดับ หนุนโดยการเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ ยอดขายที่สูงขึ้น และอัตราภาษีที่ลดลง ทำให้ปรับมูลค่าพื้นฐานขึ้น 11% จากเดิม 162 บาท เป็น 180 บาท พร้อมแนะนําซื้อ จากภาพเชิงบวกตั้งแต่ครึ่งหลังปีนี้ ต่อเนื่องถึงปีหน้า และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่คาดสูงระดับ 5% อิงจากการที่ PTTEP ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 4.25 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 2.6% กำหนดขึ้น XD วันที่ 15 สิงหาคมนี้
กระนั้น เสียงส่วนใหญ่ อย่าง อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) ดาโอ (DAOL) เมย์แบงก์ (MST) กสิกรไทย (KS) บัวหลวง (BLS) หยวนต้า (YUANTA) ทิสโก้ (TSC) ยังคงประมาณการกำไรปีนี้ที่เดิม ถึงแม้จะมีมุมมองเชิงบวกต่อราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่าจะดีขึ้นจากครึ่งปีแรก แต่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนต่อหน่วยในครึ่งปีหลัง น่าจะชดเชยผลบวกจากยอดขาย และราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นได้
ในประเด็นนี้ ได้รับการอธิบายจากยูโอบี เคย์เฮียน (UOBKH) ว่า ทางฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ตั้งสมมติฐานว่า การอ่อนตัวของราคาน้ำมันดิบทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะกระทบประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ประมาณ 805 ล้านบาท คิดเป็น 1.1% ของประมาณการ ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาท ทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรสุทธิปีนี้ได้ประมาณ 405 ล้านบาท คิดเป็น 0.6% ของประมาณการ และต้นทุนผลิตต่อหน่วยที่ลดลงทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะเพิ่มกําไรสุทธิปีนี้ได้ประมาณ 3.2 พันล้านบาท คิดเป็น 4.4% ของประมาณการ
DAOL ให้เหตุผลเพิ่มเติมที่คงประมาณการกำไร และราคาเป้าหมายที่ 175 บาทตามเดิมว่า ยังกังวล downside ที่อาจเกิดจากการที่ PTTEP ไม่ สามารถเข้าพื้นที่โครงการ Mozambique ได้ภายในสิ้นปีนี้
ขณะที่ YUANTA ระบุว่า ราคาหุ้น PTTEP ที่ปรับขึ้นมาตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา จนใกล้ราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ที่ 167 บาท จึงทำให้ upside ในการลงทุนหุ้นมีจำกัด จึงแนะนำเก็งกำไรหุ้นกลุ่มโรงกลั่น ซึ่งผลดำเนินงานครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวเด่น ทั้งเมื่อเทียบรายไตรมาส (YoY) และช่วงครึ่งปี (HoH) อย่าง TOP และ SPRC แทน