TMAN ยื่นไฟลิ่งขาย IPO หวังขึ้นแท่นผู้นำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร

5231 จำนวนผู้เข้าชม  | 

TMAN ยื่นไฟลิ่งขาย IPO หวังขึ้นแท่นผู้นำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร


นายทินพันธุ์ หวั่งหลี รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. หลักทรัพย์ กสิกรไทย (KS) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. ที. แมน ฟาร์มาซูติคอล (TMAN) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมู ลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 102 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด โดยมีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.75 บาท เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนขยายกำลังการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ อีกส่วนหนึ่งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืม ที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร สำหรับผู้บริโภคทุกช่วงวัย

ทั้งนี้ TMAN ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ ยา รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพระดับแนวหน้าของประเทศ ทั้งที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง และรับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้า ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์กว่า 50 ปี มีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยา คลินิก โรงพยาบาลรัฐและเอกชน คลินิกเวชกรรมและเสริมความงาม ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าปลีกเฉพาะอย่าง การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับลูกค้าบุคคล และส่งออก 21 ประเทศ ในกลุ่มอาเซียน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน  

ส่วนนายประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMAN ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ ทำธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ธุรกิจรับจ้างผลิตเวชภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของลูกค้า และธุรกิจจำหน่ายเวชภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแบรนด์อื่นๆ โดยมีพอร์ตโฟลิโอเวชภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 4 ประเภท กลุ่มแรกเป็นยาแผนปัจจุบัน สำหรับบำบัดรักษา หรือบรรเทาอาการที่ครอบคลุมระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งยาสามัญ (Generic drugs) และยาสามัญใหม่ (New generic drugs) อาทิ กลุ่มยารักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราที่มีอาการอักเสบ หรืออาการคันร่วมด้วย กลุ่มยารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร และผิวหนัง กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ปวดฟัน ปวดบาดแผล ปวดหลังจากการผ่าตัด ข้ออักเสบ และลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวด และอักเสบชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง       

กลุ่มที่ 2 เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำหรับบำบัดรักษา บรรเทา และป้องกันโรคด้วยสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติ ได้แก่ ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อสุขภาพ คิดค้น วิจัยพัฒนาสูตรตำรับ และทดสอบประสิทธิภาพ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น โพรโพลิซ (Propoliz) ไอยรา ปาริฉัตร กลุ่มที่ 3 เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางสำหรับบำรุงร่างกาย บำรุงผิวพรรณ เช่น TMT Whey Protein ผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพนักกีฬาและผู้รักสุขภาพ Vita-C ผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินซี

 

     



และกลุ่มสุดท้าย เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ ได้แก่ อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์เพื่อรักษา บรรเทา และป้องกันการเจ็บป่วย อาทิ  Dr.Temp แผ่นเจลลดไข้ SureDerm Plus เนื้อเยื่อทดแทนที่ใช้ร่วมกับการใช้ซิลิโคนเสริมจมูก และสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพทั่วไปทุกวัย ที่ไม่ใช่เวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาทิ Polar ที่มีทั้งสเปรย์ปรับอากาศและโฟมล้างมือ Mossi-GUARD ผลิตภัณฑ์สมุนไพรป้องกันยุง    

สำหรับจุดเด่นของบริษัทฯ อยู่ที่การมีโรงงานผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล ทั้ง GMP-PIC/S GDP PIC/S และ ISO 17025 ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง รวม 2 แห่ง อีกทั้งมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของตนเองที่ประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่พร้อมคิดค้นเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนมีการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาชั้นนำและหน่วยงานพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ระดับประเทศ เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบใหม่ๆ และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกช่วงวัย ทำให้รายได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยผลดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด (ปี 2563-65) บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มจาก 895.5 ล้านบาท เป็น 1,259.9 ล้านบาท และ 2,016.6 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กำไรกลับมีความผันผวนบางปี จากที่ทำได้ 59.9 ล้านบาท ในปี 2563 ลดลงมาเป็น 56.4 ล้านบาท ในปี 2564 เนื่องจากบริษัทฯ มีการจัดโปรโมชั่นเพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มร้านขายยาให้มากขึ้น ก่อนดีดตัวก้าวกระโดด เป็น 471.3 ล้านบาท ในปี 2565 ตามอัตรากำไรสุทธิที่ขยายตัวเพิ่มจาก 4.5% เป็น 23.3% จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การเน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรที่สูง และการปรับลดโปรโมชั่นลงมา

 

 




ขณะที่ผลดำเนินงานงวดครึ่งแรกปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้ลดลง 3.58% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 962.7 ล้านบาท จากยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคทางเดินหายใจลดลง สวนทางผลิตภัณฑ์กลุ่มอื่นๆ ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่กำไรกลับเพิ่มขึ้น 9.39% มาอยู่ที่ 250.4 ล้านบาท สาเหตุจากกลุ่มบริษัทฯ ปรับมาตรการการติดตามหนี้โดยเพิ่มความเข้มงวดในการเรียกเก็บหนี้และการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการติดตามสถานะลูกหนี้  ส่งผลให้ลูกหนี้ที่เกินกำหนดชำระลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้