4775 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ออกมาแจ้งปรับโครงสร้างการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่เป็นธุรกิจโฮลดิ้ง (Holding) ในนาม บมจ. สเตคอน กรุ๊ป (STECON GROUP) ว่า เกิดจากบริษัทฯ เห็นควรปรับยุทธศาสตร์การทำธุรกิจให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจทุกวันนี้ พร้อมกับเพิ่มศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ผ่านการเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ๆ มีโอกาสเติบโตสูง และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ นอกเหนือจากธุรกิจวิศวกรรมและรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทฯ โดยเตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นเดิม STEC เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นบริษัทใหม่ ในสัดส่วน 1 หุ้น STEC ต่อ 1 หุ้น STECON GROUP หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้เป็นลำดับแรก ซึ่งหากผู้ถือหุ้นให้การอนุมัติแผนปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 75% ก็พร้อมเดินหน้าแลกเปลี่ยนหุ้น ก่อนเพิกถอนหุ้น STEC ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และนำหุ้น STECON GROUP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่า แผนปรับโครงสร้างธุรกิจจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567
สำหรับโครงสร้างการทำธุรกิจภายใต้ STECON GROUP จะแบ่งขอบเขตการทำธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเดิมที่ดำเนินการภายใต้ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ที่ดำเนินการภายใต้ บริษัท สเตคอน เพาเวอร์ (STECP) และ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจคมนาคม ขนส่ง และสัมปทาน ซึ่งวางแผนจะลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง รวมถึงโครงการสัมปทานอื่นๆ ของภาครัฐ และกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่บริษัทฯ มีแผนเข้าไปลงทุนทั้งในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และธุรกิจที่มีความสามารถในการเติบโตสูง โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า มีกำไรสุทธิแตะ 4,000 ล้านบาท จากฐานรายได้รวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเดิม และธุรกิจใหม่ ซึ่งจะเน้นสร้างรายได้ประจำ (Recurring income) ในสัดส่วนเท่าๆ กัน และมีมูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท
ส่วนภาพระยะสั้น ในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเติบโตแตะ 31,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากธุรกิจใหม่คาดว่าจะยังไม่มากนัก ขับเคลื่อนจากงานในมือ (Backlog) รอรับรู้รายได้ที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท และการเข้าประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีคู่แข่งน้อยราย โดยคาดหวังว่าจะมีโอกาสได้รับงานประมูลใหม่ 40,000-50,000 ล้านบาท หากภาครัฐเปิดประมูลได้ตามแผนที่วางไว้ 3.3 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 25,000 ล้านบาท รถไฟทางคู่จิระ-อุบล มูลค่า 20,000 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีน้ำตาล และสายสีเทา โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง หรือโครงการมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง
สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์ เสียงส่วนใหญ่มองเป็นบวกต่อการปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นธุรกิจโฮลดิ้งในระยะยาว แต่มองเป็นกลางในระยะสั้น ถึงกลาง เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนแผนการลงทุนก่อน อีกทั้งในระยะแรก อาจรับรู้ผลขาดทุนจากธุรกิจใหม่ ประกอบกับภาพรวมธุรกิจในปี 2566 ยังไม่สดใส โดยคาดผลดำเนินงานงวดไตรมาสสุดท้ายปีนี้ จะอ่อนตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซี่งมีฐานกำไรที่สูง อีกทั้งอัตรากำไรขั้นต้นยังถูกกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งส่วนแบ่งขาดทุนบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดจากการดำเนินงานบางโครงการ
อย่างไรก็ตาม หากมองภาพปี 2567 ซึ่งโครงสร้างรายได้หลักของบริษัทฯ จะอิงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างค่อนข้างมาก ทุกสำนักเชื่อว่า จะเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นจากที่ทำจุดต่ำสุดในปี 2566 ทั้งในส่วนของรายได้ และอัตรากำไรขั้นต้น หนุนจากการรับรู้รายได้จาก Backlog ที่สูงกว่า 1 แสนล้านบาท เพียงพอจะต่อยอดรายได้ยาวนานถึง 3 ปี และโอกาสได้งานประมูลใหม่ๆ ที่คาดจะเห็นภาครัฐทยอยเปิดประมูลออกมาในครึ่งปีหลัง เพราะบริษัทฯ มีหนี้น้อยมาก ทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งหลายรายที่มีปัญหาสภาพคล่องและหนี้สิน ผลักดันให้ STEC ก้าวเป็นผู้นำขาขึ้นรอบใหม่ หากภาครัฐเปิดประมูลโครงการ Mega Project เต็มสูบ
ทั้งนี้ บัวหลวง (BLS) และเอเซีย พลัส (ASPS) มองบวกมากที่สุด โดยคาดหมายกำไรจากการดำเนินงานที่ 643 ล้านบาท เติบโต 11% และ 713 ล้านบาท เติบโต 20.8% ตามลำดับ คิดเป็นราคาเหมาะสมเท่ากันที่ 12.20 บาท
ส่วนเมย์แบงก์ (MST) และฟินันเซีย ไซรัส (FSS) คาด STEC ทำรายได้เติบโตแตะ 3.1 หมื่นล้านบาท ได้ตามที่ผู้บริหารคาด แต่กำไรจากการดำเนินงานคาดจะถูกกดดันจากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนของรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองเต็มปี ทำให้เติบโตในอัตราต่ำ คิดเป็นราคาเหมาะสมที่ 9.50 บาท และ 10 บาท อิง PER ที่ 24-25 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง -0.5 S.D. มี upside จำกัด พร้อมแนะนำ ถือ
ขณะที่ค่าเฉลี่ยจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ 12 สำนักที่ให้ความเห็นไว้กับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Concencus) อยู่ที่ 10.35 บาท