ตลาดมอง SCC พร้อมฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป รับปีมังกรทอง เห็นภาพชัดครึ่งปีหลัง

4806 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตลาดมอง SCC พร้อมฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป รับปีมังกรทอง เห็นภาพชัดครึ่งปีหลัง



หลังจาก บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี (SCC) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปีนี้ ขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยขาดทุนสุทธิ 1,134 ล้านบาท สาเหตุจากการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์โรงงานปูนซีเมนต์ในเมียนมา 1,636 ล้านบาท หลังสถานการณ์สงครามในเมียนมารุนแรงขึ้น แต่หากไม่นับรายการดังกล่าว SCC จะมีกำไรจากการดำเนินงาน 502 ล้านบาท ลดลง 83% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และลดลง 38% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ต่ำกว่าที่ตลาดคาด ผลจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานระยองโอเลฟินส์ ซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีต้นน้ำ ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้มีปริมาณขายเม็ดพลาสติกลดลง อีกทั้ง Spread ของผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ปรับตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า อีกทั้งยังต้องรับรู้ต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นจากโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ Long Son Petrochemical (LSP) ในเวียดนาม มีผลขาดทุนสุทธิ 2,560 ล้านบาท  

ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ฟื้นตัวได้ต่ำกว่าคาด หลักๆ จากธุรกิจในไทยและฟิลิปปินส์ที่อ่อนแอ ส่วนธุรกิจในอินโดนีเซีย แม้เริ่มมีสัญญาณบวกจากราคาขายกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่ขยับขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนตุลาคม แต่ราคาเฉลี่ยก็ยังไม่แตกต่างจากงวดไตรมาส 3 มากนัก ส่งผลให้ Fajar ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ SCGP ถือหุ้น 55.24% ยังขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้กำไรสุทธิลดลง 8% QoQ แต่เพิ่มขึ้น 171%YoY มาอยู่ที่ 1,219 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ขาดทุนสุทธิ 1,127 ล้านบาท แต่หากไม่นับรายการตั้งสำรองในเมียนมาร์ จะมีกำไรปกติ 509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.07% YoY รับอานิสงค์จากต้นทุนพลังงานที่ลดลง

สำหรับผลดําเนินงานทั้งปี บริษัทฯ มีรายได้ 499,646 ล้านบาท ลดลง 12% YoY สาเหตุหลักจากราคาปิโตรเคมีปรับตัวลดลง และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics ส่วนกำไรส่วนที่เป็นเงินสด (EBITDA) ลดลง 13% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 54,143 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กําไรสําหรับปีเพิ่มขึ้น 21% YoY มาอยู่ที่ 25,915 ล้านบาท สาเหตุหลักจากกําไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก มูลค่ารวม 14,822 ล้านบาท

 

 



โอกาสนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติจ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาล สําหรับงวดครึ่งปีหลังในอัตราหุ้นละ 3.50 บาท หลังจากจ่ายในงวดครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 2.50 บาท กําหนดขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 2 เมษายน ก่อนจ่ายเงินตามมาในวันที่ 23 เมษายนที่จะถึงนี้ พร้อมกันนี้ ยังได้อนุมัติงบลงทุน (CAPEX) ทั้งปีที่ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย โดยวางเป้าหมายการลงทุน เน้นไปที่ clean energy และ digital technology projects

สำหรับภาพรวมธุรกิจปีนี้ ตลาดมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นว่า น่าจะเห็นการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด (bottom-out) จากปีที่ผ่านมาได้แบบค่อยเป็นค่อยไป

โดยธุรกิจธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในประเทศได้จากภาคการท่องเที่ยว และมีงบลงทุนภาครัฐเข้ามาตั้งแต่กลางปี เช่นเดียวกับตลาดในภูมิภาคที่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย หลังจากการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ และเวียดนามที่เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ภายใต้ บมจ. เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) คาดว่าจะยังคงอ่อนแอต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งปีแรก ก่อนกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากการที่ส่วนต่างต้นทุนราคาวัตถุดิบแนฟตา มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ขณะที่อุปทานใหม่เข้ามาน้อยลง สวนทางความต้องการที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะอุปทานใหม่ของปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ที่จะลดลงอย่างมากในช่วงระหว่างปี 2567-2569 เทียบกับปี 2563-2566 ส่งผลให้ Spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มจะขยับขึ้นได้ อีกทั้งโรงงาน LSP จะพร้อมเดือนเครื่องผลิตปิโตรเคมีทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ อย่างเต็มรูปแบบในเดือนเมษายน ช่วยเพิ่มกําลังการผลิต PE และ PP ได้ถึง 70% รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปิโตรเคมีต้นน้ำให้กับกลุ่มบริษัทฯ ได้อีกทาง

ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SGCP) คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งจากอุปสงค์ที่เติบโตขึ้น และราคาขายที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในจีน อินโดนีเซีย รวมถึงตลาดอาเซียน ประกอบกับบริษัทฯ หันมามุ่งเน้นบริหารจัดการวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อผลักดันอัตรากำไรขั้นต้นให้สูงขึ้น โดยยังคงมีแผนเดินหน้าซื้อกิจการเพื่อต่อยอดการเติบโตของรายได้และกำไรตามกลยุทธ์การทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น เพื่อปิดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก    

 



อย่างไรก็ตาม ภาพธุรกิจโดยรวมที่อ่อนแอในปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดพร้อมใจกันปรับลดประมาณการกำไร และราคาเป้าหมายของ SCC ลงมา โดยดาโอ (DAOL) ปรับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ลง 33% เป็น 2.06 หมื่นล้านบาท (ทรงตัว YoY) ทำให้ปรับลดราคาเป้าหมายลงจาก 300 บาท เหลือ 270 บาท อิง SOTP ตามไปด้วย และแนะนำแค่ "ถือ” เนื่องจากคาดว่ากำไรน่าจะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งปีหลัง จากการเดินเครื่องโครงการ LSP เต็มรูปแบบ และ Spread ราคาโอเลฟินส์ที่น่าจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจจีน การลงทุนช่วงนี้ จึงยังไม่ใช่จังหวะที่ดี แต่ถือเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว

ส่วนกสิกรไทย (KS) ปรับราคาเป้าหมายปีนี้ลง 11% จาก 314 บาท เหลือ 278 บาท อิง P/BV ที่ 1.5 SD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต หรือเทียบเท่า P/BV ปีนี้ ที่ 0.88 เท่า พร้อมกับคงมุมมองว่าปี 2567 นี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านของ SCC ก่อนที่กำไรจะปรับดีขึ้นในปี 2568 เพราะกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีที่อ่อนแอจะหักล้างการปรับตัวที่ดีขึ้นในธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ส่งผลให้กำไรสุทธิปีนี้อยู่ที่ 2.83 หมื่นล้านบาท (+9.4% YoY)

ขณะที่อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) และเอเซีย พลัส (ASPS) แนะนำให้ซื้อสะสมแบบ DCA เพราะแนวโน้มธุรกิจปีนี้เริ่มมีความหวังมากขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป โดยทั้ง 2 ค่ายคาดกำไรปกติปีนี้ที่ 2.49 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกัน แต่ค่ายสีม่วง ให้ราคาเป้าหมายสูงถึง 325 บาท อิง P/BV ปีนี้ที่ 0.7 เท่า ส่วนค่ายสีน้ำเงิน ใช้วิธี DCF เทียบเท่า PER 15.88 เท่า คำนวณราคาเป้าหมายได้ที่ 330 บาท

สำหรับภาพระยะสั้น แนวโน้มผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ คาดจะปรับตัวดีขึ้น QoQ หนุนจากไฮซีซั่นของความต้องการซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์น่าจะดีขึ้นเล็กน้อย ผลจากความต้องการและราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นในตลาดจีน ไทย และตลาดภูมิภาค ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี เชื่อว่า ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์บางตัวจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากอุปทานในตลาดที่ลดลง ช่วยจํากัดความเสี่ยงขาลงสําหรับส่วนต่างราคา HDPE และ PP

สำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นดาวเด่นในปี 2566 ของกลุ่ม SCC ภายใต้การบริหารของ SCGP ก็ถูกปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลงมาด้วยเช่นกัน หลังจากผลดำเนินงานงวดไตรมาสสุดท้ายปีก่อน ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

 


 

DAOL ระบุว่า ปรับลดสมมติฐานรายได้ และอัตรากำไรลงมา จากต้นทุนเศษกระดาษที่สูงขึ้น ขณะที่การปรับราคาขายยังทำได้ไม่มากนัก จาก lag time รวมถึงอุปสงค์ที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ เพราะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ส่งผลให้คาดกำไรปกติปีนี้จะฟื้นตัวในระดับต่ำ (+9% YoY) มาอยู่ที่ 5.6 พันล้านบาท และปรับลดราคาเป้าหมายลงมาจาก 38 บาท เหลือ 35 บาท อิง PER ปีนี้ที่ 26 เท่า เทียบเท่า -0.5 SD จากค่าเฉลี่ย 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยท้าทายจากดีลการซื้อหุ้น Fajar หลังผลดำเนินงาน Fajar ช่วงที่ผ่านมายังขาดทุน

ส่วน KS ชี้ประเด็นว่า SCGP ขยายกำลังการผลิตในภูมิภาคมากเกินไปในปี 2566 ทำให้กำลังการผลิตที่เติบโตสูงกว่าการเติบโตของอุปสงค์ อาจกดดันอัตรากำไรของ SCGP อีกครั้งในช่วงครึ่งแรกปีนี้ จากส่วนต่างระหว่างราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ และราคากระดาษรีไซเคิลที่ลดลง ถึงแม้จะยังเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ในอินโดนีเซียน่าจะดีขึ้น จากการส่งออกไปจีนที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ปรับลดสมมติฐานกำไรปีนี้และปีหน้าลง 11% และ 7% เป็น 5,890 ล้านบาท และ 7,387 ล้านบาท ตามลำดับ เพื่อให้สะท้อนราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง และส่วนต่างราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ที่แคบลง ฉุดให้อัตรากำไรสุทธิลดลงตามมา ส่งผลให้ปรับลดราคาเป้าหมายลงจาก 35 บาท เหลือ 33 บาท อิง PEG ที่ 1 เท่า เทียบเท่า -2.0SD ต่ำกว่าการซื้อขายในอดีต

ในทางกลับกัน ASPS มองมุมบวก เพราะเชื่อว่าผลดำเนินงานของ SCGP ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2566 โดยหลายปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูง ผลขาดทุนอย่างหนักของบริษัท Fajar หรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าในหลายประเทศ น่าจะมี Impact น้อยลงในปีนี้ ขณะที่ดีลการเข้าซื้อกิจการ และขยายกิจการแบบ Organic Expansion ในปีที่ผ่านมา น่าจะสร้างผลตอบแทนเข้ามาในปี 2567 นี้ ทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้จะเติบโต 22%YoY เป็น 6,381 ล้านบาท คิดเป็นราคาเหมาะสมภายใต้วิธี DCF ได้ที่ 45 บาท เทียบเท่า Implied PER ที่ 30.27 เท่า อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของผลประกอบการที่ชัดเจน คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 1-2 ไตรมาส ทำให้ราคาหุ้นไม่น่าจะ Outperform ตลาดได้ในช่วงสั้น

ขณะที่ InnovestX มองบวกสุด เพราะเชื่อว่า การฟื้นตัวของราคาขายเฉลี่ย และยอดขายในอินโดนีเซีย จะหนุนให้กำไรปกติทยอยปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรก โดยคาดกำไรปกติปีนี้ และปีหน้าที่ 7,317 ล้านบาท และ 8,151 ล้านบาท คิดเป็นราคาเป้าหมายปีนี้ที่ 51 บาท อิง -0.5SD จากการซื้อขายในอดีต ยิ่งราคาหุ้นปรับลดลงมากช่วงก่อนหน้านี้ ถือได้ว่า น่าจะสะท้อนปัจจัยลบไปเรียบร้อยแล้ว ช่วยจำกัด downside ต่อราคาหุ้นในทางอ้อม จึงแนะนำ "ซื้อ"

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้