ยก TTB และ BBL เด่นสุดในกลุ่มธนาคาร ปีมังกร คุณภาพสินทรัพย์แข็งแรง ปันผลจูงใจ

5105 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ยก TTB และ BBL เด่นสุดในกลุ่มธนาคาร ปีมังกร คุณภาพสินทรัพย์แข็งแรง ปันผลจูงใจ


 

หลังจากหุ้นกลุ่มธนาคารประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาสสุดท้ายปี 2566 เสร็จสิ้นลงไป สรุปได้ว่า กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารปีที่ผ่านมาจะใกล้เคียงคาดที่ 2.28 แสนล้านบาท (+16.5% YoY) หนุนจากการได้ประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ปรับตัวเป็นขาขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ย แต่หากพิจารณากำไรสุทธิงวดไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด สาเหตุหลักจากรายได้ที่ไม่ใช้ดอกเบี้ยที่อ่อนแอ การตั้งสํารองพิเศษ (Management Overlay) ของลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ใน KTB, SCB และ KKP ทำให้มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) สูงกว่าคาด ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้า กดดันให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารแย่ลง และมีความเสี่ยงที่จะเห็นการก่อตัวของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราต่ำ น่าจะสร้างแรงกดดันสำหรับสินเชื่อธุรกิจ SME สินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อีกทั้งการได้ประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงในรอบปีที่ผ่านมา น่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

ซึ่งเมื่อแยกพิจารณาเป็นรายธนาคาร จะพบว่า มีเพียงแค่ TTB ที่รายงานผลประกอบการแข็งแกร่ง และตั้งสำรองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้าแล้ว ส่วน BBL แม้ผลประกอบการจะต่ำกว่าคาด แต่การดำเนินงานหลักยังคงแข็งแกร่งจาก NPL และ credit cost ที่ลดลง ผลจากการอนุมัติสินเชื่อแบบระมัดระวังในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและแสดงให้เห็นว่าคุณภาพสินทรัพย์อยู่ภายใต้การควบคุม  

 



ความแตกต่างด้านคุณภาพสินทรัพย์ ที่เกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง และมีความเป็นไปว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ผู้บริหารธนาคารหลายแห่งตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อปีนี้แบบไม่ตื่นเต้น แต่หันมามุ่งเน้นไปที่การควบคุมต้นทุน และการลด credit cost แทนในปี 2567

ผลที่ตามมาก็คือ ตลาดมีการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น TTB อย่างเป็นเอกฉันท์ พร้อมกับปรับกลยุทธ์การลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารมาเน้นเรื่องปันผลแทน

เอเซีย พลัส (ASPS) ระบุว่า เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา (CAGR ปี 2557-66) พบว่าขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 2% ทำให้การเพิ่มขึ้นของกำไรค่อนข้างแผ่วเบา ส่งผลให้ ROE ทั้งกลุ่มลดลงจากเลขสองหลัก ลงมาเหลือเพียง 8.9% ต่ำลงเกือบทุกธนาคาร มีเพียง TISCO เท่านั้น ที่ ROE ยังยืนได้ในระดับ 17% ขณะที่แนวโน้มกำไรกลุ่มธนาคาร ปี 2567–68 คาดเติบโตเฉลี่ยที่ 3% ตามเศรษฐกิจไทยที่เติบโตจำกัด และวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นถึงปลายทาง และมีโอกาสลงในช่วงครึ่งหลังปี 2567 แต่จะรับรู้ผลเต็มปีในปี 2568 ทำให้การลงทุนควรพุ่งเป้าไปที่การจ่ายปันผลเป็นหลัก ซึ่งในการจัดประชุมนักวิเคราะห์ ผู้บริหารธนาคารต่างๆ ยืนยันว่า พร้อมเร่งเพิ่มอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ให้สูงขึ้น เพราะอัตราส่วนเงินกองทุนในปัจจุบันของธนาคารเพียงพอแล้ว โดยเครื่องมือหนึ่งในการปรับปรุง ROE ก็คือ การเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผล  

ดังนั้น เมื่อเลือก Top pick ของกลุ่มธนาคาร ในกลุ่มธนาคารใหญ่และกลาง เลือก TTB (ราคาเหมาะสมที่ 1.98 บาท) ที่มีกันชนอย่างผลประโยชน์ทางภาษี และการกันสำรองเพิ่มเพื่อรองรับความเสี่ยงตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน ช่วยผลักดันให้กำไรปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเด่นสุดในกลุ่ม พร้อมคาดจ่ายเงินปันผลในอัตรา 5-6% ส่วนธนาคารเล็ก เลือก TISCO (ราคาเหมาะสมที่ 106 บาท) เพราะคาดการณ์เงินปันผลสูงระดับ 7-8%

ขณะที่ BBL และ KBANK ซึ่งราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาถูกกดดันจากการไหลออกของ Fund Flow อย่างต่อเนื่อง หลังถูก Downgrade จากงบไตรมาส 4 ที่ออกมาน่าผิดหวัง ส่งผลให้ราคาซื้อขายปรับลงมาบริเวณ P/BV ระดับ 0.5 เท่า ทำให้ในเชิง Valuation น่าสนใจ

สำหรับอินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) คาดว่ากําไรกลุ่มธนาคารจะเติบโตในอัตราชะลอตัวลงจาก 16% ในปีที่ผ่านมา ลงมาเหลือ 6% ในปีนี้ สาเหตุจาก NIM ที่ขยายตัวน้อยลง ทำให้ปรับประมาณการกำไรของธนาคารส่วนใหญ่ลงมา ยกเว้น TTB ที่ปรับเพิ่มเพียงรายเดียว เพื่อให้สะท้อนผลประโยชน์ทางภาษี สามารถคาดหวังเงินปันผลสูงในระดับ 5.8-6.6% ขณะที่ให้มูลค่าเหมาะสมที่ 1.90 บาท

แต่เมื่อพิจารณาจาก Valuation ประกอบด้วย เลือก BBL และ KTB เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม จาก Upside ที่เปิดกว้างเทียบกับมูลค่าเหมาะสมที่ 190 บาท และ 22 บาท ตามลำดับ รวมถึงสามารถคาดหวังปันผลได้เกิน 4.8% จึงน่าสนใจ

ส่วนกสิกรไทย (KS) ยก BBL (ราคาเหมาะสมที่ 196 บาท) เป็นหุ้นเด่นเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนตัวเล่นจาก KTB (ราคาเหมาะสมที่ 24.75 บาท) เป็น TTB (ราคาเหมาะสมที่ 2.00 บาท) แทน เพราะเชื่อว่า TTB จะมีกำไรเติบโตอย่างโดดเด่นที่ 20% จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 1.55 หมื่นล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้ในปี 2567-2571 อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์ของ TTB อยู่ภายใต้การควบคุม เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อของ SME และสินเชื่อเช่าซื้อที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่วยให้สามารถคาดหวังเงินปันผลงวดบัญชีปีที่ผ่านมา และปีนี้ในระดับ 6-7% เป็นรองเพียง SCB และ TISCO ที่คาดจ่ายปันผลสูงกว่า 7% ทั้ง 2 ปี

 



เช่นเดียวกับฟินันเซีย ไซรัส (FSS) ที่เลือก TTB (ราคาเหมาะสม 2.19 บาท) เป็นหุ้นเด่น เนื่องจากกำไรมี Downside risk จำกัดจากประโยชน์ทางภาษีที่เหลืออยู่อีก 1.55 หมื่นล้านบาท พร้อมผลตอบแทนในรูปเงินปันผลในระดับ 5-6% รองลงไปเป็น BBL (ราคาเหมาะสม 191 บาท) จาก Valuation ที่น่าสนใจ เพราะราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายในระดับที่ต่ำมาก โดยมีค่า P/BV ที่ 0.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

นอกจากนี้ ยังแนะนำซื้อ SCBX (ราคาเหมาะสม 118 บาท) ถึงแม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์อยู่บ้าง แต่การที่ราคาหุ้นซื้อขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ประกอบกับคาดจะจ่ายปันผลในอัตราสูงถึง 7% จึงยกให้เป็นหุ้นทางเลือกอีกตัวหนึ่ง

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้