ธุรกิจรุ่ง ธุรกิจร่วง ปีมังกรทอง

4203 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ธุรกิจรุ่ง ธุรกิจร่วง ปีมังกรทอง


 

การที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีมังกรทอง ยังฟื้นตัวอ่อนแอ และไม่กระจายตัวทั่วถึง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศคอยกดดัน ทำให้การทำธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุน และรักษาความสามารถในการแข่งขันมากเป็นพิเศษ เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ โดยเฉพาะ 3 เทรนด์ที่ยังคงมาแรง และจะยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง คือ เทรนด์รักษ์โลก (Grow Green) เทรนด์สังคมสูงวัย (Grow Wellness) และเทรนด์การใช้งานเทคโนโลยีรับยุคดิจิทัล (Grow Digital) ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 3 เทรนด์ข้างต้น กลายเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใส

จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) มี 3 ธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสดใสหลายปี เข้าข่ายธุรกิจรุ่ง ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ทางไกล ธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ และธุรกิจตู้กดสินค้าอัตโนมัติ

โดยการท่องเที่ยวสุขภาพ คาดรายได้จากคนไข้ Medical tourism จะเติบโต 8-10% ในปีนี้ สอดคล้องไปกับการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย และการเดินทางระหว่างประเทศ ขณะที่การให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telehealth) คาดว่าจะเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 17% สอดคล้องไปการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการให้บริการด้านสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2572

ส่วนธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ จะครอบคลุมหลายหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งน่าจะมีการเติบโตสูงเป็นเลข 2 หลักต่อเนื่องอีกหลายปี

สำหรับธุรกิจตู้กดสินค้าอัตโนมัติ คาดจะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการตู้กดสินค้าอัตโนมัติปีนี้เพิ่มขึ้น 8-10% แต่ต้องติดตั้งในทำเลที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่น และจัดวางสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ครอบคลุมทั้งเครื่องดื่ม อาหาร สินค้าในชีวิตประจำวัน ให้สอดคล้องไปกับไลฟ์สไตล์ที่ต้องการความสะดวกสบายของผู้บริโภคยุคใหม่ในเขตเมือง

 



ในทางกลับกัน จะมี 3 ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตลำบาก เข้าข่ายธุรกิจร่วง อย่าง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น หรือของใช้ส่วนตัวทั่วไป ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง และธุรกิจสถาบันการศึกษา

เพราะธุรกิจแฟชั่น หรือของใช้ส่วนตัวทั่วไป ถูกดดันจากการที่ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย และมีความภักดีต่อแบรนด์ต่ำ อีกทั้งยังต้องแข่งขันสูงมากกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีราคาย่อมเยา ทำให้สินค้าแฟชั่น หรือของใช้ส่วนตัว เช่น สกินแคร์ เครื่องสำอาง วิตามิน ที่แบรนด์ไม่ดัง มีฐานลูกค้าน้อย มีความเสี่ยงจะเผชิญยอดขายที่หดตัว หรือเป็นกระแสได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ดูได้จากสินค้าแฟชั่น หรือของใช้ส่วนตัว ที่นำเข้าน่าจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20%

สำหรับธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง อย่างเหล็ก อะลูมิเนียม กำลังจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนข้ามพรมแดนจากคู่ค้าตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป ถึงแม้ปีนี้จะยังไม่ถูกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ผู้ประกอบการต้องเริ่มรายงานข้อมูล ทำให้มีต้นทุนการดำเนินการ และอาจจำเป็นต้องลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน กดดันให้ความสามารถในการแข่งขันลดน้อยถอยลง

ขณะที่ธุรกิจสถาบันการศึกษา ถูกกดดันจากโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง อีกทั้งปัจจุบันการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต การศึกษาหลักสูตรชั้นนำผ่านช่องทางออนไลน์ก็มีความสะดวก หรือแม้กระทั่งการค้นคว้าหาความรู้ผ่านออนไลน์และ Generative AI ก็พัฒนาขึ้นมาก ทำให้สถาบันการศึกษามีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากภาวะอุปทานส่วนเกิน และจำเป็นต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ตอบรับกับความต้องการแรงงานในอนาคต ทำให้สถาบันการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวน้อย หรือไม่มีจุดแข็ง อาจมีความเสี่ยงต่อการปิดตัว

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของแต่ละธุรกิจ ทั้งในธุรกิจรุ่ง และธุรกิจร่วง อาจแตกต่างกันออกไป โดยในกลุ่มธุรกิจร่วง ยังมีกิจการที่สามารถเติบโตได้ (Outperform) เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจรุ่ง ก็อาจมีกิจการที่ไม่เติบโต (Underperform) เพราะตลาดในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อน และแตกย่อยมากขึ้น (Fragmented) ทำให้เจ้าของกิจการจำเป็นจะต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา พร้อมปรับตัวให้รับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอยู่เสมอ รวมไปถึงพยายามเข้าไปครองใจผู้บริโภค ผ่านการทำการตลาดที่จริงใจ และเกาะไปกับกระแสความสนใจให้ได้อย่างรวดเร็ว หรือสร้างความแตกต่างทางธุรกิจได้

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้