QTC มั่นใจ ยอดขายปีมังกร โตไม่ต่ำกว่า 30% จากทั้งธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า ธุรกิจเทรดดิ้ง

1553 จำนวนผู้เข้าชม  | 

QTC มั่นใจ ยอดขายปีมังกร โตไม่ต่ำกว่า 30% จากทั้งธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า ธุรกิจเทรดดิ้ง


นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% จากปีก่อนหน้า สาเหตุจากการเติบโตในธุรกิจโซลาร์เซลล์ที่สูงถึง 20% รับอานิสงส์จากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และการที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนขานรับนโยบายการลด Carbon Footprint เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ทำให้มีความต้องการติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนุนให้ความต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแตะ 900 ล้านบาท และสามารถพลิกผลดำเนินงานจากขาดทุนสุทธิในครึ่งปีแรกมาเป็นกำไรสุทธิ 67 ล้านบาท

โอกาสนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายปันผลสำหรับรอบบัญชีทั้งปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 12 เมษายนที่จะถึงนี้ ก่อนจ่ายปันผลในวันที่ 30 เมษายนตามมา

สำหรับทิศทางการดำเนินงานปีนี้ บริษัทฯ วางกลยุทธ์สู่การเป็นผู้นำหม้อแปลง Super Low Loss ที่เริ่มต้นมา 5 ปีแล้วเพื่อเตรียมขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าและการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับลูกค้าและผู้ผลิต รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากทั้ง 3 ธุรกิจ

โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งเป็น Core Business ปีนี้ วางกลยุทธ์ขยายตลาดหม้อแปลงไฟฟ้า Super Low Loss มากขึ้น เน้นเจาะตลาดยุโรป ซึ่งมีความต้องการขยายตัวมากขึ้นตามกระแสใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ควบคู่ไปกับตลาดในประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดขายรวม 30% ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บริษัทฯ มีคำสั่งซื้อในมือ (Backlog) รอส่งมอบแล้วราว 400 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจเทรดดิ้ง ที่แยกตัวออกมาตั้งเป็นบริษัทย่อย คิวทีซี อาร์อี (QTC RE) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่เติบโตขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็น โซลาร์เซลล์จากแบรนด์ชั้นนำระดับโลก อย่าง Huawei, LongiSolar, TrinaSolar, Teltonika, JJ-Lapp, AP Smart, Bizlink, HaCo, Janitza, Rika, Clenergy รวมถึงอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ หรือ EV Charger พร้อมทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการได้ครบวงจรมากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Business) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) จำนวน 3 แห่ง กำลังพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่ม และมีแผนลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การจำหน่ายสินค้า EV Charger Equipment และ EV Solution Platform เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในไตรมาส 2 นี้  

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้