5520 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และ 7% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ถึง 10% และเนื่องจากไม่มีรายการพิเศษ ทำให้กำไรปกติทำได้ 560 ล้านบาท ลดลง 16% YoY หลักๆ เกิดจากยอดขายที่ลดลง 8.8% ตามกำลังซื้อที่ชะลอตัว มาอยู่ที่ 7,523 ล้านบาท และฉุดรั้งให้อัตราเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) หดตัวลง 12% YoY หักล้างยอดขายที่เติบโตจากการเปิด 2 สาขาใหม่ ทำให้มีสาขารวมทั้งหมดเพิ่มเป็น 84 สาขา อย่างไรก็ตาม หากเทียบ QoQ ยอดขายเพิ่มขึ้น 7% QoQ จากอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่ดีขึ้น 0.2% เป็น 26.1% ตามการเพิ่มสัดส่วนสินค้า Private Brand บ่งชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจเริ่มก้าวผ่านจุดต่ำสุด (Bottom out) ได้แล้ว
สำหรับผลดำเนินงานทั้งปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 2,678 ล้านบาท ลดลง 23.61% YoY ตามกำลังซื้อที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ กดดันให้ยอดขายโดยรวมลดลงมาอยู่ที่ 33,013 ล้านบาท ลดลง 8.24% YoY อย่างไรก็ดี การที่บริษัทฯ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้าอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการพัฒนาสาขาเดิมให้มีรูปแบบที่ทันสมัย สะดวกสบาย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อสินค้าให้กับลูกค้ามากขึ้น เพิ่มอีก 10 สาขา พร้อมกับขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 6 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสาขาของบริษัทย่อยในกรุงพนมเปญ กัมพูชา 1 สาขา ช่วยให้สามารถควบคุมอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับ 25.5% ใกล้เคียงปีก่อนหน้า
โอกาสนี้ บริษัทฯ ประกาศจ่ายปันผลสำหรับงวดบัญชีปี 2566 ทั้งเงินสด และหุ้นปันผล โดยจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.1744 บาท ขณะที่หุ้นปันผล จ่ายในอัตราส่วน 25 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนจ่ายจริงวันที่ 10 พฤษภาคมตามมา
ขณะเดียวกัน นายวิทูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GLOBAL ได้ออกมาเปิดเผยกลยุทธ์การทำธุรกิจปีนี้ว่า ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้เป็นบวกสูงที่สุด ทั้งเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และรองรับแผนขยายสาขาเชิงรุกในปีนี้ เพิ่มเป็น 9-10 สาขา จากเดิมที่เพิ่มปีละ 6-7 สาขา รวมถึงปรับปรุงสาขาให้มีความทันสมัย สะดวกสบายมากขึ้น โดยใช้งบลงทุนจากกระแสเงินสดที่มี ซึ่งนอกจากจะไม่ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุนแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยตั้งเป้า SSSG พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3-4% หลังจากในเดือนมกราคม SSSG เริ่มติดลบน้อยลงเหลือ 4-6% พร้อมกับบริหาร GPM ให้อยู่ในกรอบ 25.5-26.0% ตามแผนเพิ่มสัดส่วนสินค้า Private Brand ขึ้นเป็น 25%
ซึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากค่ายกรุงศรี พัฒนสิน (KCS) อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) หยวนต้า (YUANTA) และ กสิกรไทย (KS) เชื่อว่า กลยุทธ์ที่ผู้บริหารวางไว้จะทำให้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของกำไรดีขึ้น QoQ ตั้งแต่ไตรมาสแรก ก่อนจะเติบโต YoY ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป หนุนจาก SSSG ที่จะกลับมาเติบโตได้หลังการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบที่ลดน้อยลงจากราคาเหล็กที่ลดลง การเปิดสาขาใหม่อีก 7-8 แห่ง และการบริหาร GPM ได้ดีขึ้น ตามการเพิ่มสัดส่วนสินค้า Private Brand
โดย KCS YUANTA KS ประเมินกำไรปีนี้ใกล้เคียงกัน ที่ 3,034-3,043 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 13.4-13.7% YoY พร้อมกับให้ราคาเป้าหมายปีนี้ในกรอบ 17.20-18.20 บาท แตกต่างกันไปตามสมมติฐานในการประเมินมูลค่า
ส่วน InnovestX คาดการณ์กำไรปีนี้เพียง 3,006 ล้านบาท ก่อนขยายตัวเป็น 3,500 ล้านบาท ในปีหน้า ทำให้คำนวณมูลค่าพื้นฐานปีนี้ที่ 18.50 บาท เมื่อคิดรวม dilution ที่เกิดจากหุ้นปันผลแล้ว
ประการสำคัญ หากมองภาพระยะยาว GLOBAL ถือเป็นหุ้นตัวเลือกในกลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่มีศักยภาพการเติบโตสูงจากเครือข่ายที่แข็งแกร่งครอบคลุม 6 ประเทศในอาเซียน ทำให้มีโอกาสเติบโตในระยะยาวดีกว่ากลุ่ม และยังมีการพัฒนาธุรกิจเพื่อผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน จนประสบความสำเร็จมากขึ้นเป็นลำดับ โดยล่าสุด ได้รับเลือกให้ติดใน S&P Global Sustainability Yearbook 2024 ซึ่งถือเป็น 1 ในหุ้นเป้าหมายสำหรับการลงทุนของนักลงทุนสถาบันอีกด้วย ช่วยเพิ่มแต้มต่อในการลงทุน หาก Fundflow ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังของปีอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังกัน