คาดกำไรไตรมาสแรกหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทำจุดสูงสุดของปี

5421 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คาดกำไรไตรมาสแรกหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทำจุดสูงสุดของปี


กสิกรไทย (KS) และอินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) คาดกำไรไตรมาสแรกปี 2567 หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเติบโตดีขึ้น เมื่อเทียบทั้งรายไตรมาส (QoQ) และรายปี (YoY) โดย KS ซึ่งวิเคราะห์หุ้นธนาคาร 7 ราย ได้แก่ BAY, BBL, KKP, KTB, SCB, TISCO และ TTB ประเมินกำไรรวมที่ 4.946 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.6% QoQ และ 3.0% YoY ขณะที่ Innovest X ซึ่งวิเคราะห์หุ้นธนาคาร 8 ราย ได้แก่ BAY, BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TISCO และ TTB คาดกำไรรวมที่ 6.148 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.0% QoQ และ 5.0% YoY โดยให้เหตุผลคล้ายๆ กันว่า กำไรที่เติบโตเชิง QoQ เกิดจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่ลดลง จากการไม่มี management overlay สำหรับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ กับการที่อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลง ตามปัจจัยฤดูกาล ส่วนการเติบโตเชิง YoY หนุนจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่เพิ่มขึ้น จากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่สูงขึ้นตามดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แม้ว่า credit cost มีแนวโน้มจะสูงขึ้น YoY ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่คาดว่าจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเชื่อว่าอาจมี NPL ไหลเข้ามาใหม่จาก SME และลูกค้ารายย่อย หลังสิ้นสุดโครงการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท. ส่งผลให้หนี้เสีย (NPL) ไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2566 ที่ 3.45% เป็น 3.55% และมีผลให้แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อไตรมาสแรกน่าจะทำได้ทรงตัวทั้ง QoQ และ YoY

กระนั้น เมย์แบงก์ (MST) กลับประเมินกำไรไตรมาสแรกหุ้นธนาคารพาณิชย์ 7 ราย ได้แก่ BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TISCO และ TTB อยู่ที่ 4.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% QoQ แต่ทรงตัว YoY เนื่องจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (NII) ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น คล้ายกับไอร่า (AIRA) ที่คาดการณ์กำไรไตรมาสแรกหุ้นธนาคารพาณิชย์ 8 ราย ประกอบด้วย BAY, BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TISCO และ TTB ที่ 58,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% QoQ แต่ทรงตัว YoY 

ทั้งนี้ KS เชื่อว่า BBL จะมีการเติบโตของกำไรโดดเด่นที่สุด จาก NIM ที่เพิ่มขึ้น และ credit cost ที่ลดลง YoY ในทางกลับกัน SCB น่าจะรายงานกำไรทรงตัวทั้ง QoQ และ YoY เพราะคาดว่า NIM ที่สูงขึ้นถูกชดเชยด้วย credit cost ที่สูงขึ้น

ส่วน InnovestX คาดว่า KTB จะรายงานกําไรเติบโตแข็งแกร่งที่สุด QoQ จาก credit cost ที่ลดลง และเป็นธนาคารเพียงรายเดียวที่ไม่ต้องกังวลกับการตั้งสำรองจากกรณี ITD เต็มจำนวนตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีก่อนแล้ว ตามด้วย KKP ที่มีรายได้จากเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และขาดทุนรถยึดที่ลดลง ดูได้จากดัชนีราคารถมือสองที่เริ่มฟื้นตัวจากจุดตํ่าสุดในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน (แต่ยังคงขาดทุน 45% YoY จาก credit cost ที่สูงขึ้น และกําไรจากเงินลงทุุนที่ลดลง) และหากเทียบ YoY จะพบว่า TTB จะรายงานกําไรเติบโตแข็งแกร่งที่สุด อานิสงค์จากการได้ผลประโยชน์ทางภาษี ตามมาด้วย BBL ขณะที่ SCB น่าจะรายงานกำไรทรงตัวทั้ง QoQ และ YoY ส่วน TISCO คาดกำไรลดลงทั้ง QoQ และ YoY

สำหรับ MST เชื่อว่า ธนาคารใหญ่และกลางทุกรายจะรายงานกำไรฟื้นตัว QoQ ยกเว้น SCB โดยคาด KTB และ KKP จะรายงานกำไร QoQ โดดเด่นที่สุด ขณะที่ TTB น่าจะโชว์กำไรสุทธิเติบโตสูงสุด YoY ที่ 19% จาก NIM และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สูงขึ้น

ที่สำคัญ ทั้ง 3 ค่าย คิดตรงกันว่า กำไรไตรมาสแรกปีนี้จะทำสถิติสูงสุด ก่อนลดลงตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป จาก NIM ที่แคบลงอันเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลงมา 0.5% โดย KS คาดว่าการเติบโตของกำไรทั้งปีจะลดลงจากที่ขยายตัว 16% ในปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 2% ขณะที่ InnovestX คาดกำไรทั้งปีเติบโต 5% เมื่อตั้งสมมติฐานว่า สินเชื่อทั้งปีเติบโต 3% credit cost ลดลง 8 bps รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยประคองตัวในระดับคงที่ และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ในระดับทรงตัว ซึ่งใกล้เคียงกับ MST ที่คาดกำไรทั้งปีจะเติบโต 6-7% ส่งผลให้มุมมองการลงทุนหุ้นธนาคารพาณิชย์รายตัวแตกต่างกันไป

KS เลือก KKP (ราคาเป้าหมาย 60 บาท) และ TISCO (ราคาเป้าหมาย 107 บาท) เป็นหุ้นเด่น จาก downside risk ที่จำกัดจากผลขาดทุนรถยนต์ที่ถูกยึดที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปี และ NIM ที่มีแนวโน้มสูงกว่าธนาคารขนาดกลางและใหญ่จากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ ทำให้สามารถกลับมาจ่ายปันผลได้สูง อย่างไรก็ตาม การลงทุนควรทยอยสะสมเมื่อราคาอ่อนตัว เพราะการเติบโตของกำไรของกลุ่มอุตสาหกรรมจะไม่น่าตื่นเต้นช่วงปี 2567-68

ส่วน InnovestX ยังคงให้น้ำหนักหุ้นธนาคารใหญ่ อย่าง BBL (ราคาเป้าหมาย 185 บาท) กับ KTB (ราคาเป้าหมาย 22 บาท) และหุ้นธนาคารกลาง นำโดย BAY (ราคาเป้าหมาย 35 บาท)

เช่นเดียวกับ AIRA ที่เลือกหุ้นธนาคารใหญ่ อย่าง BBL (ราคาเป้าหมาย 195 บาท) กับ KTB (ราคาเป้าหมาย 19.20 บาท) และเป็น 2 ธนาคารที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการเบิกจ่ายงบประมาณ

สำหรับ MST แนะนำ KTB (ราคาเป้าหมาย 21 บาท) และ BBL (ราคาเป้าหมาย 22 บาท) เป็น Top pick กลุ่มธนาคารใหญ่ จากการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง และเป็น 2 ธนาคารที่ได้ประโยชน์สูงสุดหาก NIM ลดลงน้อยกว่าคาด โดยค่ายนี้ คาด กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายปีนี้เพียงครั้งเดียว ในอัตรา 0.25% และเลือก TTB (ราคาเป้าหมาย 2 บาท) เป็นตัวแทนธนาคารขนาดกลาง จากความสามารถทำกำไรปีนี้ที่เด่นสุดในกลุ่ม 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้