2842 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. บีซีพีจี (BCPG) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แต่งตั้งให้ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้นวัตกรรมใหม่ บอนด์พลัสคาร์บอนเครดิต ที่นอกจากผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เหมือนหุ้นกู้โดยทั่วไปแล้ว ยังสามารถเลือกรับเป็นคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกพัฒนาขึ้น หรือเลือกรับเป็นใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (I-REC) ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานของ I-TRACK Foundation ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสำหรับการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสิ่งแวดล้อม นำร่องเป็นรายแรกในประเทศ ด้วยการเสนอขายหุ้นกู้ จำนวน 2 รุ่น อายุ 3 ปี และ 5 ปี ให้กับนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศ มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา
นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCPG บอกว่า การที่บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในประเทศไทยได้ตั้งแต่ปี 2565 และตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ทำให้มีความพร้อมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ดังนั้น การนำร่องธุรกรรมให้คาร์บอนเครดิตแก่นักลงทุนครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนสถาบันของไทยเข้าใจเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครคิตในตลาดรองเพิ่มมากขึ้น ช่วยขยายผลในการจัดตั้ง Carbon Markets Club เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต พร้อมทั้งการนำเสนอแพลทฟอร์มที่สามารถคำนวณการปล่อยปริมาณคาร์บอน และซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการแก้ปัญหาโลกร้อน สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ตามความสมัครใจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสภาพคล่องในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยอีกด้วย
ด้านนายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ KBANK เสริมว่า ที่ผ่านมา ธนาคารเข้าไปมีส่วนเสริมสร้างความยั่งยืนผ่านการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลาดทุน ที่ร่วมส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการออกผลิตภัณฑ์การลงทุน ผลิตภัณฑ์การบริหารความเสี่ยงและบริการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ ส่วนการเข้าร่วมเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และเป็นผู้ลงทุนหลัก (Cornerstone Investor) ในหุ้นกู้ BCPG ครั้งนี้ ทำให้ธนาคารสามารถก้าวสู่เป้าหมายสำคัญด้านความยั่งยืนอีกขั้น ด้วยการเชิญชวนให้นักลงทุนสถาบันต่างๆ เข้ามาเรียนรู้กระบวนการเปิดบัญชีคาร์บอนเครดิตกับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมแบ่งปันความรู้ด้าน ESG รวมถึงการจัดการด้านบัญชีและภาษีที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิตอีกด้วย ขณะเดียวกัน คาร์บอนเครดิตที่ธนาคารได้รับจากธุรกรรมครั้งนี้ จะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) ของธนาคารต่อไป
เช่นเดียวกับนายเสี่ยวปอ หลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนาคารไอซีบีซี ไทย ในเครือไอซีบีจี สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของจีน (ICBC) กล่าวว่า ธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนาของตลาดทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ ESG อย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยทั้งบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ และผู้ลงทุนต่างต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกรรมครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดทุนให้สอดคล้องกับเรื่อง ESG เพื่อให้บริษัทและผู้ลงทุนในวงกว้างรับรู้และให้ความสนใจในธุรกรรมการเงินแบบยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และนายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ยืนยันตรงกันว่า มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการนำธุรกรรมการลงทุนในตลาดทุน และการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต มารวมกันเป็นโครงการนวัตกรรมทางการเงินครั้งแรกของประเทศ และพร้อมให้การสนับสนุนผู้ออกตราสารหนี้ ESG และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยตามมาด้วย
ขณะที่นางณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจในไทย มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีโครงการที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน T-VER แล้ว 438 โครงการ ในจำนวนนี้มี 169 โครงการ ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต คิดเป็นจำนวนคาร์บอนเครดิตทั้งสิ้น 19.537 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในจำนวนนี้ มีการซื้อขายแล้ว 3.422 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 299 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าธุรกรรมนี้จะเป็นแรงส่งให้ภาคส่วนต่างๆ เห็นความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำพาประเทศให้บรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด
สำหรับธุรกรรมครั้งนี้ ทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พร้อมดำเนินการโอนคาร์บอนเครดิตจากบัญชีของ BCPG ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการ ไปยังบัญชีของผู้ลงทุน จำนวนรวม 21,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทันที