4934 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย (DELTA) ประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 6,565 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และเพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แต่หากตัดรายการพิเศษ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และกำไรจากการชดเชยการยกเลิกสัญญาออกไป จะมีกำไรปกติอยู่ที่ 5,934 ล้านบาท ขยายตัว 56% QoQ และ 34% YoY ทําสถิติสูงสุดใหม่ สาเหตุจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ AI, Data Center และการฟื้นตัวของยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดันให้รายได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ (New High) ที่ 4.17 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% QoQ และ 17% YoY
นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นยังขยับขึ้นมาที่ 26.9% ทำสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นต้นมา ดีกว่าที่ทำได้ 23.4% ในไตรมาส 2 ปีก่อน และ 21.0% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากส่วนผสมผลิตภัณฑ์ดีขึ้น จากการเปลี่ยนไปเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง ต้นทุนการผลิตที่ลดลงเนื่องจากการประหยัดต่อขนาด เสริมด้วยการได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน และการกลับรายการสํารองสินค้าในสต็อก หลังจากที่บริษัทฯ ตั้งสํารองสินค้าติดต่อกัน 12 ไตรมาส
การเติบโตของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ AI, Data Center ในไตรมาส 2 และมีแนวโน้มจะเติบโตสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง ต่อเนื่องปีหน้า ทั้งจากการได้ประโยชน์จากความต้องการพลังงาน และระบบระบายอากาศใน Server และ Data Center ที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงการได้งานบางส่วนจาก NVIDIA ผู้ผลิตอุปกรณ์ AI ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และการฟื้นตัวของยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการได้ประโยชน์จากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาที่บริษัทฯ มากขึ้น ต่อยอดการเติบโตของยอดขายและกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางสำนัก เช่น ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (CGSI) ธนชาต (TNS) กสิกรไทย (KS) ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) นำร่องปรับประมาณการกำไรของ DELTA ช่วง 3 ปีนี้ (ปี 2567-69) เพิ่มขึ้น พร้อมกับปรับราคาเหมาะสมขึ้นมาเป็นเลข 3 หลัก โดยค่าย CGSI ให้ราคาที่ 100 บาท ส่วนอีก 3 ค่าย ให้ราคาในกรอบ 110 - 120 บาท