4760 จำนวนผู้เข้าชม |
นายทินพันธุ์ หวั่งหลี รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. หลักทรัพย์ กสิกรไทย (KS) ที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล (TMAN) ผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ยา รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแถวหน้าของประเทศมายาวนานกว่า 50 ปี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบไฟลิ่ง) และแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 102 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีราคาพาร์ที่หุ้นละ 0.75 บาท ทำให้พร้อมเดินหน้านำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ ภายในครึ่งปีหลังนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนขยายกำลังการผลิต รวมถึงลงทุนระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตลอดจนงานวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก ส่วนที่เหลือนำไปชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และก้าวขึ้นเป็นผู้นำนวัตกรรมสุขภาพ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับจุดเด่นของ TMAN คือ การเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างครบวงจร ซึ่งมีเพียงน้อยราย อีกทั้งผู้บริหารมีประสบการณ์และความชำนาญในการดำเนินธุรกิจ สามารถสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ภายใต้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีมาตรฐาน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญ ธุรกิจอยู่ในเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ด้านเภสัชกรประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMAN ชี้แจงลักษณะการทำธุรกิจว่า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ตัวเอง 5 แบรนด์หลัก ได้แก่ แบรนด์ Propoliz แบรนด์ Vita-C แบรนด์ไอยรา แบรนด์ Myda และแบรนด์ IBUMAN กลุ่มที่สอง รับจ้างผลิตเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์บุคคลภายนอก และกลุ่มที่สาม จำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์บุคคลภายนอก
ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นเจ้าของแบรนด์เวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของกลุ่มบริษัทฯ เอง 226 แบรนด์ และนำเข้าภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก 17 แบรนด์ รวมทั้งสิ้นกว่า 825 ผลิตภัณฑ์ (SKUs) ครอบคลุมทั้งยาแผนปัจจุบัน กลุ่มยารักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา กลุ่มยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ลดไข้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลและช่วยบรรเทาอาการทางช่องปากและลำคอ กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรบรรเทาอาการไอ ระคายคอ ขับเสมหะ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ครอบคลุมผู้บริโภคทุกช่วงวัย กลุ่มเครื่องสำอางสำหรับดูแลและบำรุงผิว ครีมบำรุงผิว สำหรับผื่น แพ้ คัน และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ อย่าง Dr.Temp Series แผ่นเจลลดไข้ หรือสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพทั่วไปทุกช่วงวัย เช่น Polar Series สเปรย์ปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือ ผสมแอคทีฟ โพลาร์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรป้องกันยุง วางจำหน่ายทั้งในประเทศ และอีกกว่า 22 ประเทศทั่วโลก
การเติบโตของพอร์ตโฟลิโอเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสินค้า และการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลดำเนินงานช่วง 3 ปีล่าสุด (ปี 2564-66) ของ TMAN มีกำไรเติบโตเฉลี่ยในอัตรา 176.5% จาก 56.4 ล้านบาท เพิ่มเป็น 472.5 ล้านบาท ก่อนอ่อนตัวมาอยู่ที่ 431.1 ล้านบาท ผลส่วนหนึ่งจากยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคทางเดินหายใจที่ลดลงตามการคลายตัวของสถานการณ์โควิด สำหรับผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 139.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3% ตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น 16.6% มาอยู่ที่ 587.3 ล้านบาท ที่สำคัญ บริษัทฯ สามารถควบคุมอัตรากำไรขั้นต้นให้สูงเกิน 48% มาโดยตลอด
สำหรับโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ในกลุ่มเวชภัณฑ์ยา เมื่ออ้างอิงงานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (Krungsri Research) จะพบว่า มูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.3% ขณะที่มูลค่าการจำหน่ายผ่านร้านขายยา จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.0% ระหว่างปี 2566-68 ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีงานวิจัยจาก Euromonitor ว่า ตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Vitamins and Dietary Supplements) ปี 2564–68 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% ผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ มลภาวะที่เพิ่มขึ้น และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ บ่งชี้ให้เห็นว่า บริษัทฯ น่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องปีละ 5-7% ตามภาวะอุตสาหกรรม
แต่เพื่อผลักดันการเติบโตให้สูงกว่าอุตสาหกรรม บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ขยายตลาดในประเทศ ด้วยการมุ่งขยายฐานลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล ที่เป็นห่วงโซ่ขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมยา อย่างเต็มตัวมากขึ้น เพราะสังคมไทยก้าวสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เต็มรูปแบบแล้ว ทำให้มีความต้องการยาเสริมภูมิคุ้มกัน หรือป้องกันโรคมากขึ้น พร้อมกับรุกเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นคลินิกเวชกรรมและเสริมความงาม ที่เติบโตตามกระแสใส่ใจความงามที่สูงขึ้น โดยได้มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไว้รองรับแล้ว หลังจากที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการวางจำหน่ายผ่านช่องทางร้านขายยา และโมเดิร์นเทรดต่างๆ แล้ว
ขณะที่โอกาสเติบโตในต่างประเทศ บริษัทฯ มีแผนให้ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้จำหน่ายสินค้าที่ตรงกับความถนัด เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงร่วมทำแบรนด์ และการตลาดกับพันธมิตร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ สามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้ อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีแผนออกบูธ และงานอีเวนต์ต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการรับรู้แบรนด์ และขยายโอกาสใหม่ๆ ซึ่งจะขับเคลื่อนให้แบรนด์ยกระดับขึ้นเป็น Global Brand ในที่สุด
ส่วนนายตรัส อบสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ TMAN เสริมว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำนวัตกรรมสุขภาพอย่างที่มุ่งหวัง บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ล่วงหน้า ด้วยการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ภายใต้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้อย่างครบถ้วน พร้อมกับขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานทั้ง ที.แมน ฟาร์มา และเฮเว่น เฮิร์บ ควบคู่ไปขยายช่องทางสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรับจ้างผลิต ธุรกิจรับจำหน่าย หรือขยายช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์เหล่านี้
เบื้องต้น บริษัทฯ มีแผนลงทุนราว 777.5 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 โครงการ ประกอบด้วย โครงการลงทุนติดตั้งเครื่องจักร รวมถึงระบบที่เกี่ยวข้อง และซื้อเครื่องมือควบคุมคุณภาพ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบัน ทั้งประเภท เม็ด น้ำ ครีม โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตกลุ่มยาสมุนไพร และลงทุนติดตั้งเครื่องจักรสำหรับการบรรจุผลิตภัณฑ์ลงบรรจุภัณฑ์ โครงการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โครงการลงทุนติดตั้งเครื่องจักร สำหรับผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แบบของแข็ง โครงการปรับปรุงพื้นที่เพื่อติดตั้งเครื่องจักรสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบน้ำ ตลอดจนการขยายส่วนงานวิจัยและพัฒนา และระบบงานขายบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 298.5 ล้านบาท
ส่วนโครงการลงทุนในอนาคต อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) รวม 5 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 479.0 ล้านบาท อาทิ โครงการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ โครงการขยายกำลังการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบัน สำหรับการทดลองผลิตผลิตภัณฑ์ตัวอย่างและผลิตภัณฑ์รูปแบบของแข็ง (Solid Dosage Form) โครงการปรับปรุงพื้นที่เก็บยา ปรับปรุงอาคารสำหรับการจัดเก็บวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ และปรับปรุงพื้นที่ตามสายการผลิต
และเพื่อก้าวเป็น Global Brand ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ บริษัทฯ มีการต่อยอดจุดแข็งให้แบรนด์ ด้วยการพัฒนา Products Champion ทั้ง 5 แบรนด์ ให้สามารถใช้งานในวงกว้างมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในเชิงลึกได้มากขึ้น และเห็นผลสำเร็จมาแล้วจากการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผสมสารสกัดโพรโพลิสจากธรรมชาติ แบรนด์ Propoliz ที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ จากสเปรย์สำหรับผู้ใหญ่ ไปสู่สเปรย์สำหรับเด็ก ลูกอม และยาสีฟัน สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนโอกาสการเติบโตในอนาคตตามไปด้วย