5766 จำนวนผู้เข้าชม |
กลุ่มธุรกิจการเงินในเครือ บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ร่วมกับพันธมิตร BlackRock บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำของโลก จัดสัมมนา Mid-Year Investment Outlook 2024: Seizing Opportunities in a Shifting World เพื่ออัปเดตเทรนด์การลงทุนช่วงครึ่งหลังปี 2567 ให้กับลูกค้ากรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง และ กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ สรุปได้ว่า การที่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งมีการคาดหมายกันว่า จะเห็นการลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้งภายในปีนี้ ถือเป็นปัจจัยหนุนให้การลงทุนหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้น แต่บรรยากาศการลงทุนโดยรวมยังมีแนวโน้มจะผันผวน จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้การจัดพอร์ตลงทุนต้องมุ่งเน้นสมดุลระหว่างการรับมือความผันผวน (Dynamic Strategy) และการสร้างผลตอบแทนให้สุงกว่าตลาด (Selective Strategy) โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ (Mega Trend) ต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี AI การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
ในประเด็นนี้ นายโจนาธาน ลีออช (Jonathan Reoch) กรรมการผู้จัดการ BlackRock ได้ยกตัวอย่างกองทุนที่มีครบทั้งกลยุทธ์แบบ Dynamic และแบบ Selective อย่างกองทุนเปิดกรุงศรี Global Unconstrained Equity (KFGLOBAL) ซึ่งมีกลยุทธ์ลงทุนในบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว คัดเลือกหุ้นรายตัวโดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ไม่ยึดติดกับประเภทหุ้น อุตสาหกรรม หรือดัชนีชี้วัด เพื่อหาโอกาสที่ดีที่สุดทั้งช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลง สร้างผลตอบแทนจากการลงทุน โดยกองทุนสามารถสร้างผลดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเฉลี่ยที่ปีละ 14%
ส่วนนายวิรัตน์ วิทยศรีธาดา หัวหน้าทีม Krungsri Investment Intelligence แนะนำกระจายเงินลงทุนใน 4 ธีม ธีมแรก FED ลดดอกเบี้ยช่วง 1-3 ปีนี้ ด้วยการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ อย่าง PIMCO GIS Income Fund (KF-CSINCOM) ที่กระจายการลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลกและมีผลดำเนินงานที่ดีสม่ำเสมอ ธีมที่สอง การลงทุนหุ้น แบ่งเป็นการลงทุนหุ้นทั่วโลก อย่างกองทุน BlackRock World Technology Fund A2 USD (KFHTECH) ที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีผลดำเนินงานและอัตราการเติบโตสูงกว่าตลาดหุ้นโดยรวม กับการลงทุนหุ้นเวียดนาม ซึ่งมีการเติบโตสูงและมีปัจจับหนุนเฉพาะตัวจากการถูกยกระดับขึ้นเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Markets) ผ่านกองทุน Principal VNEQ จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดี
ธีมที่สาม ลงทุนในกองทุน Private Equity เพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนและลดความเสี่ยงพอร์ต เนื่องจากมีความผันผวนค่อนข้างต่ำ อย่างกองทุน KFGPE-UI บริหารจัดการโดย Schroders ที่มีการกระจายการลงทุนในหลายวัฏจักรธุรกิจของบริษัท และธีมสุดท้าย ลงทุนในกองทุน Private Credit ผ่านกองทุน KFPCD-UI ที่บริหารจัดการโดย BlackRock เพื่อเป็นอีกทางเลือกเพิ่มผลตอบแทนและลดความเสี่ยงของพอร์ต เหมือนธีมที่สาม
ขณะที่นายเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนทางเลือก บลจ. กรุงศรี (Krungsri Asset) เสริมเรื่องการลงทุนหุ้นว่า ภาพรวมตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ซึ่งหากพิจารณาเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความโดดเด่นที่สุด และหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งปลายปีนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีโอกาสแข็งค่าขึ้นจากนโยบายด้านการค้า ยิ่งส่งผลให้ตลาดมีโอกาสและความน่าสนใจเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดหุ้นยุโรปยังมีความน่าสนใจจากปัจจัยเรื่องนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและราคาหุ้นยังคงมีราคาถูก ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น สถานการณ์ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนภาพรวมของหุ้นญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความกังวลของนักลงทุน สำหรับตลาด Emerging Markets ภาพรวมน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนเพิ่มหากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อน
ประการสำคัญ การลงทุนธีม AI ยังคงน่าสนใจและมีโอกาสในการเข้าไปลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะหุ้น Big Tech 5 ตัวแรก ได้แก่ ไมโครซอฟท์ (MSFT) เอ็นวีเดีย คอร์ป (NVDA) แอมะซอน (AMZN) กูเกิ้ล (GOOGL) และเมตะ คอร์ป (META) ซึ่งได้รับการปรับประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้นกว่า 38% สวนทางหุ้นอื่นๆ ที่ถูกปรับลงราว 5% รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI ในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ กลุ่ม Cybersecurity หรือ Software ซึ่งสามารถลงทุนผ่านกองทุนเปิดกรุงศรีเวิล์ดเทคอิควิตี้เฮดจ์เอฟเอ็กซ์ (KFHTECH) ที่บริหารจัดการโดย BlackRock ที่มีจุดเด่นในการสร้างพอร์ตแบบ Core & Opportunistic Holding ด้วยการลงทุนหุ้นหลัก (Core) ในสัดส่วน 40-50% และกระจายการลงทุนในหุ้นจำนวนมากในพอร์ตรอง (Opportunistic) เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะกลาง-ยาวที่ดีกว่า ผันผวนน้อยกว่า ในสัดส่วน 50-60% ส่งผลให้สามารถสร้างผลตอบแทนรวมได้อย่างสม่ำเสมอ หรือกองทุน KFGTECH ที่บริหารจัดการโดย T. Rowe Price ที่มีสไตล์การลงทุนแบบ Highly Active เปลี่ยนแปลงทุก 6 เดือน เพิ่มโอกาสทำกำไรได้มากกว่าในช่วงที่ตลาดขาขึ้น
ด้านนายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บมจ. หลักทรัพย์ กรุงศรี (KCS) กล่าวถึงหุ้นไทยว่า มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น ทั้งจากการที่ราคาหุ้นไทยวันนี้อยู่ในโซนน่าลงทุน และโอกาสฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังที่เด่นชัดขึ้น อานิสงค์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เสริมด้วยการได้เม็ดเงินลงทุนใหม่จากกองทุน ThaiESG ที่ภาครัฐปรับเงื่อนไขการลงทุนให้จูงใจนักลงทุนมากขึ้น ช่วยหนุนให้มีแรงซื้อหุ้นใหญ่ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มดัชนี SETESG ซึ่งหากปัจจัยการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ เชื่อว่า ตลาดมีโอกาสแกว่งขึ้นมาในกรอบ 1,320-1,400 จุด ในทางกลับกัน หากสถานการณ์การเมืองผันผวน จะกดดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับลงไปแกว่งในกรอบ 1,250-1,320 จุด
สำหรับหุ้นที่ควรมีติดไว้ในพอร์ตช่วงครึ่งปีหลังนี้ ให้น้ำหนักกับหุ้นส่งออก ในกลุ่มอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ Data Center และกระแส 5G รวมถึงธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจที่มีประเด็นบวกเฉพาะตัว เช่น ค้าปลีก ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม อย่าง TCPALL GFPT HANA KCE MINT MTC OSP TRUE และ WHA และจัดสรรเงินบางส่วนลงทุนในหุ้นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มดัชนี SETESG ที่มีศักยภาพการเติบโตของกำไรเด่น จ่ายปันผลสม่ำเสมอ และราคาหุ้นพักฐานในโซนล่างมากเกินไป เช่น AOT CRC GULF KBANK