มองตลาดหุ้นระยะสั้นไม่ได้อานิสงค์จากการลดดอกเบี้ยนโยบายมาก แต่มีตัวเลือกลงทุนอย่าง AP SIRI SPALI TIDLOR MTC SAWAD DIF เพิ่ม

5171 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มองตลาดหุ้นระยะสั้นไม่ได้อานิสงค์จากการลดดอกเบี้ยนโยบายมาก แต่มีตัวเลือกลงทุนอย่าง AP SIRI SPALI TIDLOR MTC SAWAD DIF เพิ่ม


หลังจากที่่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่นมา มีมติปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 2 แบบพลิกความคาดหมายของตลาด ที่เชื่อว่า ไม่น่าจะปรับลดในการประชุมรอบนี้ โดยเสียงข้างมากให้เหตุผลว่า จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ลดลง สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ ที่มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวในกรอบเป้าหมายที่ควรจะเป็น และทิศทางสินเชื่อที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลง อีกทั้งยังสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปีหน้า ที่น่าจะขยายตัวลดลงจากที่คาดไว้ 3.0% เหลือ 2.9% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะลดลงจาก 3.2% เหลือ 2.9% และมูลค่าการส่งออกขยายตัวลดลงจาก 2.6% เหลือ 2.0% ซึ่งถือได้ว่า จะสร้างประโยชน์ (BENEFIT) ได้มากกว่าต้นทุนที่เสียไป (COST)  

จากการตรวจสอบความเห็นฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ 8 ค่าย หลายสำนักคิดตรงกับพาย (Pi) ว่า การปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้ไม่น่าจะคาดหวัง Upside ต่อตลาดหุ้นได้มากในระยะสั้น เพราะส่วนต่างระหว่าง Earning Yield ของตลาดหุ้น เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปี (Earnings Yield Gap) ที่ใช้เป็นเครื่องมือวัด Valuation ของตลาดหุ้นว่าแพงหรือไม่แพง อยู่ในช่วงใกล้เคียง +1SD บ่งชี้ว่า หุ้นไทยไม่ถูกมากนัก อีกทั้งตลาดยังมีความเสี่ยงจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กดดันในระยะสั้น จึงทำให้อาจเก็งกำไรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ลด 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มที่อยู่อาศัย กลุ่มหุ้นที่มีหนี้สูง นำโดยกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก ที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนดอกเบี้ยกู้ยืมลดลง กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนการเงิน และต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างลดลง กลุ่มส่งออกอาหาร ที่น่าจะได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน และกลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้อานิสงส์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรซึ่งกำลังจะเปลี่ยนเป็นทิศทางเป็นขาลง เพิ่มความน่าสนใจของผลตอบแทนให้สูงขึ้น (Yield Plays)

 



ซึ่งเมื่อให้คัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจจากทั้ง 6 กลุ่มข้างต้น ค่ายดาโอ (DAOL) เลือกหุ้น 6 ตัว ได้แก่ TIDLOR ซึ่งราคาหุ้นยัง laggard กลุ่มไฟแนนซ์, BGRIM ที่แรงกดดันจากผลตอบแทนโครงการใหม่ในอนาคตลดลง, SIRI จากการมียอดขายในมือรอโอน (Backlog) และโครงการพร้อมขายสูง, ERW ที่มีหนี้ที่มีสัดส่วนเงินกู้ไทยสูงที่สุด ถึง 88% และหนี้ทั้งหมดเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อีกทั้งน่าจะได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาทกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น, TU ITC AAI น่าจะได้ประโยชน์จากเงินบาทอาจกลับมาอ่อนค่า และ IVL ที่ได้ประโยชน์จากภาระดอกเบี้ยที่ลดลง พร้อมกับแนะนำ AURA เพิ่มเติม จากการมีโอกาสขยายพอร์ตลูกหนี้ขายฝากด้วยต้นทุนการเงินที่ลดลง

ด้านบัวหลวง (BLS) เลือก SPALI, SIRI เป็นหุ้นเด่นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ พร้อมเลือก MTC เป็นหุ้นเด่นกลุ่มไฟแนนซ์ รองลงไปเป็น SAWAD และ TIDLOR และเลือก GULF เป็นหุ้นเด่นกลุ่มโรงไฟฟ้า คล้ายกับพาย (Pi) ที่เลือก AP และ SPALI เป็น Top pick กลุ่มการเงิน, MTC กับ SAWAD เป็น Top pick กลุ่มไฟแนนซ์, BGRIM, GPSC และ GULF เป็น Top pick กลุ่มโรงไฟฟ้า, โดยมี CPALL เป็นตัวเลือกในกลุ่มหุ้นที่มีหนี้สูง และ TU กับ ITC เป็น Top pick กลุ่มส่งออกอาหาร ที่อาจได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อน

ขณะที่เอเซีย พลัส (ASPS) เลือกหุ้น 10 ตัว นำโดย MTC SAWAD TIDLOR จากกลุ่มไฟแนนซ์ AP, SIRI และ LH จากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยพิจารณารวมเรื่องเงินปันผลด้วย ขณะที่ CPALL, BJC, CENTEL และ CK เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากกลุ่มหนี้สูง เพิ่มโอกาสเติบโตของรายได้และกำไร

คล้ายกับโกลเบล็ก (GBS) ที่แนะนำหุ้น 9 ตัว ได้แก่ MTC, SAWAD, TIDLOR, GULF, GPSC, BGRIM, SIRI, SC และ SPALI  

ส่วนอินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) แนะนำ CPALL, AP, SIRI, GPSC, BAM เป็นตัวเลือกจาก 5 กลุ่มข้างต้น และมี LHHOTEL กับ DIF เป็นตัวเลือกในกลุ่ม REIT โดยมี TISCO และ KKP ที่มีสัดส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อสูง เป็นอีกตัวเลือกสำหรับการคาดหวังเงินปันผลในระดับสูง   

สำหรับทรีนีตี้ (TNITY) เลือก SAWAD, TIDLOR, KTC, JMT และ SAK เป็นตัวแทนกลุ่มไฟแนนซ์ QH ป็นตัวแทนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และ DIF, CPNREIT กับ EGCO เป็นตัวเลือกในกลุ่ม REIT และโรงไฟฟ้า เมื่อใช้เกณฑ์ Valuation ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังประกอบการตัดสินใจ  

คล้ายกับทิสโก้ (TSC) ที่ยกให้ MTC, AEONTS, BAM เป็นตัวแทนกล่มไฟแนนซ์ โดยมี AP, SIRI, GULF, EGCO เป็นตัวแทนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และโรงไฟฟ้า ขณะที่ BTSGIF, DIF, TFFIF เป็นตัวแทนกลุ่ม Yield Plays

ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แม้ธนาคารที่จะได้รับแรงกดดันจากการปรับลดดอกเบี้ย เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ KTB > BBL > KBANK > SCB > TTB > BAY แต่ในทางปฏิบัติ ต้องดูความสำเร็จจากการขยายฐานเงินฝาก และพัฒนาการของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non – NII) จากกลุ่มธรกิจตลาดทุน ซึ่งได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ช่วยชดเชยผลกระทบที่จะเกิดกับรายได้ดอกเบี้ย (NII) ในระยะต่อไปประกอบด้วย

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้