361 จำนวนผู้เข้าชม |
ฝ่ายวิจัย โนมูระ พัฒนสิน (CNS) ออกบทวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนปี 2565 สรุปสาระสำคัญได้ว่า บรรยากาศการลงทุนจะมีแรงกดดันจากนโยบายการเงินโลกตึงตัว นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยคาดหมายว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund rate) 4 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินโลกลดลง และยังมีความเสี่ยงที่จะต้องติดตามกันต่อไปด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงหลังไตรมาสแรกได้หรือไม่ เมื่อสาเหตุการเร่งตัวของเงินเฟ้อเกิดจากปัจจัยด้านอุปสงค์ (Demand Pull - การที่ความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภคมีมากขึ้น แต่สินค้าหรือบริการในตลาดมีไม่เพียงพอ) ซึ่งทำให้นโยบายการเงินโลกอาจมีความตึงตัวมากขึ้น สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อมาตรการควบคุมของภาครัฐ และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในช่วงถัดไปหรือไม่
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบภาพตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (Developed Market – DM) กับตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market – EM) โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียแล้ว CNS เชื่อมั่นว่า ตลาดหุ้นเอเชียจะเป็นหลุมหลบภัยจากความผันผวนภายนอก โดยควรจับจังหวะ “ซื้อ” ในไตรมาสแรก เพราะเป็นช่วงที่นักลงทุนสถาบันมักปรับ Position การลงทุนล่วงหน้า ก่อน Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก
CNS ประเมินทิศทางหุ้นเอเชีย มีปัจจัยหนุนจากการที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับขึ้นแบบ U-Shape ซึ่งต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่เร่งตัวในแบบ V-Shape ทำให้แรงกดดันต่อ Valuation ของหุ้นเอเชียจำกัดกว่า ขณะที่เศรษฐกิจจีนน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 จากการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจเริ่มคลายตัว (Bottom Out) ในไตรมาสแรก หนุนให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจีนและเอเชียเป็นบวก ประกอบกับสถานะการถือครองหุ้น (Position) ของนักลงทุนต่างชาติยังต่ำ โดยเฉพาะกองทุนสหรัฐฯ ที่กระจายเงินลงทุนมาตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market – EM) แค่ 4.2% ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และจุดสูงสุดในปี 2556 ที่ 4.5% และ 6.3% ตามลำดับ
และเนื่องจากตลาดหุ้นเอเชียมีความโดดเด่นที่สุด ทำให้ Theme การลงทุนต่างประเทศ ควรให้น้ำหนักกับตลาดหุ้นจีน เกาหลี และอินโดนีเซีย พร้อมแนะนำกองทุน TMBCOF, SCBKEQTG, KT-ASEAN โดยจับจังหวะซื้อสะสมไตรมาสแรก เพื่อเป้าปลายปี
สำหรับตลาดหุ้นไทย มีโอกาสผันผวนในช่วงต้นจากความเสี่ยงภายนอกถ่วง ก่อนฟื้นตัวรับแสงสว่างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช่วงปลายปี โดยมีเป้าหมายดัชนีที่ 1,750 จุด ดังนั้น ภาพการลงทุนในไตรมาสแรกมีโอกาสแกว่งในลักษณะ “Swing Trade” ในกรอบระหว่าง 1650 / 1680จุด – 1530 / 1500จุด สูง จึงทำให้กลยุทธ์การลงทุนควรเน้นตั้งรับ ทยอยสะสมหุ้นช่วงตลาดผันผวน และจัดพอร์ตแบบผสมผสาน เน้น Theme การลงทุนระยะยาวที่เป็นกระแสเด่นในเอเชีย ผสานกับกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น
ทั้งนี้ CNS แนะนำ Theme ลงทุนหุ้นไทย ใน 6 ลักษณะ ประกอบด้วย
1) Metaverse Economy : ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากกระแส Metaverse กระแส Digital Tranformation และการพัฒนาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในระบบนิเวศน์ของ Metaverse เน้นผู้ให้บริการโครงข่ายการสื่อสารที่พ้นจุดลงทุนหนักๆ ไปแล้ว อย่าง ADVANC คาดเป็นผู้ได้รับประโยชน์ตั้งแต่ช่วงเริ่มของกระแส Metaverse
2) Evs-Green Energy : ธุรกิจที่รับประโยชน์แ ละเติบโตตามระบบนิเวศน์ของห่วงโซ่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขยายตัวแบบเร่งตัว ได้แก่ KCE, GPSC
3) ESG : ธุรกิจที่มีการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ตระหนักถึงคุณค่า สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) มีค่า ESG ที่สูง เพราะกระแสการลงทุน ESG ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลก เลือก ADVANC
4) M&A : ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการเกิด Synergy ของการปรับโครงสร้างกิจการ นอกจากนี้ระยะกลางยาวยังมีโอกาสเข้าดัชนีหลัก MSCI, SET50, FTSE บนเงื่อนไขที่มีการเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น (Free float) มากกว่า 20% ภายในเดือนพฤษภาคม เช่น MAKRO
5) Reopening: แผนการเปิดประเทศหนุนนักลงทุนต่างชาติกลับมาสร้างฐานการผลิต หนุนเศรษฐกิจ และรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดย AMATA, TIDLOR
6) Inflation Hedging : หุ้นที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเร่งตัว และได้อานิสงค์บวกจากวงจรดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เน้นไปที่ KBANK, SCB
ซึ่งเมื่อคัดกรองหุ้นจาก ทั้ง 6 Theme ข้างต้น จะได้หุ้นเด่นปีเสือ 8 ตัว คือ ADVANC AMATA GPSC KBANK KCE MAKRO SCB TIDLOR
ฝ่ายวิจัยรายนี้ ยังแนะนำหุ้น Mid/small Cap ที่เข้าข่าย 6 Theme ลงทุนข้างต้นเพิ่มเติม โดยชี้เป้าไปที่หุ้น PLANB GFPT KSL JMT SINGER SAPPE BLA BBIK และ BE8