MTC เพิ่ม 2 ธุรกิจ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ กับสินเชื่อบริการซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง ดันพอร์ตสินเชื่อปีนี้แตะ 1 แสนล้านบาท ก่อนขยับเท่าตัวในปี 2569

376 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MTC เพิ่ม 2 ธุรกิจ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ กับสินเชื่อบริการซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง ดันพอร์ตสินเชื่อปีนี้แตะ 1 แสนล้านบาท ก่อนขยับเท่าตัวในปี 2569

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าเติบโตสู่ธุรกิจ 100,000 ล้านบาท โดยมีธุรกิจหลักคือ เมืองไทย แคปปิตอล และธุรกิจที่ตั้งขึ้นใหม่คือ เมืองไทย ลิสซิ่ง และเมืองไทย เพย์ เลเทอร์ เป็นธุรกิจที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำธุรกิจในอนาคต โดยมีการวางแผนการทำตลาด ทั้งลูกค้าเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดีและการเข้าหาลูกค้าใหม่ที่มีความต้องการใช้บริการ ผ่านสาขาทั่วประเทศ 5,800 แห่ง รวมถึงการเปิดสาขาใหม่อีกปีละ 600 สาขา โดยการเปิดสาขา จะเน้นจุดที่มีชุมชน และมีลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมาก เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้า และลดข้อร้องเรียน 

“ปีนี้ เราเตรียมขยายธุรกิจเพิ่ม 2 ประเภท ผ่านบริษัทย่อย คือ เมืองไทย ลิสซิ่ง และเมืองไทย เพย์ เลเทอร์ โดยตัวลีสซิ่ง จะให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่วนตัวเพย์ เลเทอร์ จะให้บริการซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง กับสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้และของใช้ในบ้าน เน้นกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี และการเข้าหาลูกค้าใหม่ที่มีความต้องการใช้บริการ โดยอาศัยเครือข่ายสาขาทั่วประเทศเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า ทั้ง 2 ธุรกิจจะเข้ามาสนับสนุนการทำธุรกิจในอนาคตได้เป็นอย่างดี” นายชูชาติ ชี้ประเด็น

ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคมนี้ และวัดผลงานทุกไตรมาส ซึ่งผู้บริหารมีความเชื่อมั่นว่าจะผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อของบริษัทฯ พุ่งแตะ 100,000 ล้านบาท โดยยังคงความเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ได้อย่างแน่นอน

พร้อมกันนี้ ประธานกรรมการบริหาร MTC ยังบอกด้วยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตในอีก 4 ปี ข้างหน้าด้วยว่า ต้องการก้าวสู่ธุรกิจ 200,000 ล้านบาท ในปี 2569 ซึ่งการจะทำให้ได้เป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯจะต้องเน้นการเติบโตให้ได้ปีละ 20-25% ทุกปี ควบคู่ไปกับการควบคุมหนี้เสียให้ไม่สูงเกิน 2% ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำแผนการตลาดที่เอื้อต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเกินไป หรือเงื่อนไขในการผ่อนชำระที่เป็นธรรม ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานตามไปด้วย 

สำหรับเบื้องลึกของแผนธุรกิจ MTC ในทศวรรษที่ 3 นี้ เกิดจากการทบทวนตัวเอง โดยมองย้อนอดีตไปในช่วง 8 ปี ก่อนที่บริษัทฯ จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งในเวลานั้น บริษัทฯ มียอดสินเชื่อคงค้าง 7,447 ล้านบาท สาขาทั้งหมด 506 แห่ง พนักงาน 1,690 คน และผลกำไร 544 ล้านบาท แต่วันนี้มีการเติบโตถึง 1,000% หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 125% (ปัจจุบัน บริษัทฯ มีสินเชื่อคงค้าง 90,000 ล้านบาท สาขาทั้งสิ้น 5,800 แห่ง พนักงาน 11,400 คน และกำไร 5,000 ล้านบาท) อีกทั้งยังก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจ Non-Bank ด้วยส่วนแบ่งตลาด 45% จากการทำธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่ดิน

ที่สำคัญ โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ หากไม่นับ “กลุ่มเพ็ชรอำไพ” แล้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่จะเป็นกองทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีกองทุนต่างชาติถือหุ้นประมาณ 15% กองทุนไทยถือหุ้น 10% ที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อยประมาณ 8% ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องยกระดับการทำธุรกิจให้มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างยั่งยืน สามารถตอบโจทย์ทุกฝายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้ถือหุ้น หรือลูกค้า ได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้