2532 จำนวนผู้เข้าชม |
ตลาดเงินตลาดทุนช่วงนี้ยังคงโฟกัสไปที่สหรัฐฯ เป็นหลัก เมื่อคำกล่าวสุนทรพจน์ที่ Jackson Hole ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตอกย้ำหนักแน่นว่า การสู้กับเงินเฟ้อยังไม่จบ ทำให้พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้สั่นสะเทือนตลาดการเงินทั่วโลกเป็นระยะๆ
ยิ่งอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม พุ่งแตะ 8.3% สูงกว่าตลาดคาดไว้ที่ 8.1% ยิ่งสร้างแรงกดดันให้ตลาดคาดหมายว่า Fed จะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแรงถึง 1.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายนนี้ จากเดิมที่คาดไว้ 0.75% พร้อมกับมีการคาดหมายด้วยว่า ถึงสิ้นปีนี้ อาจเห็นดอกเบี้ยสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับ 4.0% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.5% พร้อมทั้งสร้างประเด็นคำถามตามเรื่องเศรษฐกิจถดถอยว่า จะรุนแรงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคม พลิกมาเป็นบวก 0.3% จากที่ลดลง 0.4% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ทำให้ตลาดให้น้ำหนัก 80% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.25% และให้น้ำหนัก 20% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% แต่ยังคงคาดหมายดอกเบี้ยสหรัฐฯ สิ้นปีที่ 4.5% ต่อไป
การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อย่างต่อเนื่อง ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ดาโอ (DAOL) ประเมินว่า มีโอกาสสูงมากที่ กนง. จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 28 กันยายนนี้ ขึ้นอีก 0.25% ก่อนปรับอีก 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป วันที่ 30 พฤศจิกายน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีคาดจะอยู่ที่ 1.25% ก่อนปรับขึ้นเป็น 2.00% ในปีหน้า
แม้ตลาดหุ้นจะผันผวนในช่วงนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไปดูผ่อนคลายลง อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังมีความได้เปรียบในมุม Valuation รวมถึง Market Earning Yield Gap ที่กว้างกว่าตลาดสหรัฐฯ ทำให้มีโอกาสเห็น Fundflow ไหลเข้าในอนาคต พร้อมกับช่วยพยุงให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นโลกได้ ดังนั้นหาก ตลาดหุ้นลงลึกถือเป็นโอกาสทยอยสะสม จึงเสนอแนะทางเลือกหนึ่งในการลงทุน ด้วยการเปิดโผรายชื่อกลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นที่จะได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ สรุปได้ดังนี้
Sector และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น
1. Big Bank (BBL, KTB, KBANK, SCB)
2. Company with net cash หรือ low debt (ONEE, BEC, SAT, IIG, BBIK, KCE, HANA)
Sector และหุ้นที่เสียประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น
1. Finance (AEONTS, TIDLOR, MTC, THANI, SAWAD, KTC)
2. Small Bank (TISCO, KKP)
3. Retail (CPALL, MAKRO)
4. Building Materials (DOHOME, GLOBAL)
5. IT Distributor (COM7, SYNEX, SIS)
6. Property (LPN, PSH)
7. Power (GULF, BGRIM, GPSC)
8. Company with high debt (BAFS)
สำหรับความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ DAOL ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะถดถอยที่ยังไม่รุนแรง หรือ "Mild Recession" เพราะธุรกิจต่างๆ ในสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวรับการเกิดภาวะถดถอยมากขึ้น แม้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีการเข้าลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนมาก แต่เป็นการถือเงินสดสำรองมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภาคธุรกิจสหรัฐฯ เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะเกิดขึ้นจริง
สิ่งที่ตามมา ก็คือ ภาวะ Mild Recession เช่นนี้ จะทำให้ตลาดสินทรัพย์มีความผันผวนสูง การคาดการณ์ปัจจัยเศรษฐกิจที่ยากขึ้น ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเป็นตัวแปรตลาด ทั้งเรื่องการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ปัญหาเงินเฟ้อและพลังงานยุโรป และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นการลงทุน ยังต้องเน้นความระมัดระวัง
DAOL แนะนำว่า ในช่วงระยะ 3 เดือนนี้ จนถึงไตรมาส 4 แนะนำทยอยเข้าลงทุนช่วงตลาดปรับฐาน เน้นสะสมหุ้นเติบโต (Growth stock) ไม่เกิน 50% ของพอร์ต โดยกระจายสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ประมาณ 20-30% ญี่ปุ่น 10% และจีน 10% หรืออาจแบ่งเงินบางส่วนมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดีย อินโดนีเซีย ได้