5495 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี (SCC) ประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปีนี้ว่า มีรายได้จากการขาย 125,649 ล้านบาท ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และ 4% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ตามยอดขายที่ลดลงในทุกธุรกิจ และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics ที่เปลี่ยนสถานะจากบริษัทย่อย เป็นบริษัทร่วมหลังมีการควบรวมกิจการกับ บมจ. เจดับบลิวดี โลจิสติกส์ (JWD) เป็น SJWD ขณะที่กำไรสุทธิสำหรับงวดอยู่ที่ 2,441 ล้านบาท ทรงตัว YoY แต่ลดลง 70% QoQ สาเหตุจากมีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ในเมียนมาร์ แต่หากตัดรายการพิเศษนี้ออกไป จะมีกำไรปกติอยู่ที่ 3,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% YoY แต่ลดลง 42% QoQ ปัจจัยกดดันมาจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เผชิญปัญหา Oversupply ในอินโดนีเซีย และเงินปันผลรับจากธุรกิจลงทุนที่ลดลงจากไตรมาสก่อน
ไตรมาสนี้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ กลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรสูงที่สุด โดย SCGP ทำกำไรได้ 1,325 ล้านบาท สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีที่เคยเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรมากที่สุดให้กับ SCC ไตรมาสนี้มีกำไรสุทธิเพียง 1,052 ล้านบาท เกิดจาก Spread ผลิตภัณฑ์หลักปรับตัวลดลง และการรับรู้ผลขาดทุนช่วงแรกจากการดำเนินงานโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม จำนวน 1,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีผลขาดทุนสุทธิ 176 ล้านบาท จากการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ในเมียนมาร์ ขณะที่ธุรกิจลงทุนมีกำไร 676 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมงวด 9 เดือนปีนี้ SCC มีกำไรสุทธิ 27,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% YoY สาเหตุจากมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการตีมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มรวม 1.48 หมื่นล้านบาท ในครึ่งปีแรก แต่หากไม่นับรายการพิเศษ จะมีกำไรจากการดำเนินงาน 12,805 ล้านบาท ลดลง 40% YoY
ภาพรวมธุรกิจที่ยังอ่อนแอ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากต้นทุนพลังงานผันผวน ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาดจีนชะลอตัว ธุรกิจปิโตรเคมียังไม่ฟื้นตัวดี ผนวกกับปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ผู้บริหาร SCC วางแผนรับมือด้วยการเน้นควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม โดยเฉพาะการลดต้นทุนพลังงาน เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล พร้อมทั้งเร่งหาแหล่งพลังงานสะอาดอื่นๆ ควบคู่ไปกับการทบทวนแผนงาน ชะลอโครงการไม่เร่งด่วน และหันไปมุ่งการลงทุนธุรกิจเติบโตสูง และธุรกิจนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น หลังจากธุรกิจสีเขียวปีนี้เติบโตโดดเด่น ในอัตราเร่งถึง 54% จากการขายสินค้าทั้งหมด โดยพร้อมเดินเครื่องเต็มตัวเพื่อเร่งยอดขายให้ได้ 2 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมดในปี 2573
ภาพรวมธุรกิจที่ยังอ่อนแอตลอด 9 เดือนปีนี้ ทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์แทบทุกสำนัก คาดหมายแนวโน้มผลประกอบการ SCC ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ว่า จะยังไม่มีความโดดเด่นแต่อย่างใด เพราะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานปิโตรเคมี ต้นน้ำ 40-45 วัน เข้ามากดดันเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ ที่อาจยืดเยื้อและขยายวงกว้าง ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ถือเป็นปัจจัยลบต่อต้นทุนธุรกิจปิโตรเคมี
นอกจากนี้ SCC ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายคงที่จากโครงการ LSP มากขึ้น จากปัจจุบันเดือนละ 350 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 800 ล้านบาท แต่เป็นค่าใช้จ่ายระยะสั้น ซึ่งจะออกดอกออกผลต่อ SCC อย่างคุ้มค่า ในระยะกลางถึงยาว
แต่เมื่อให้ถอดรหัสความน่าสนใจในการลงทุน กลับมีการมองต่างมุมเกิดขึ้น เพราะบางสำนักมองว่า ความน่าสนใจในการลงทุนของ SCC อยู่ที่ราคาหุ้นต่ำจนเกินไป แต่หลายค่ายอยากรอดูความชัดเจนของการฟื้นตัวในครึ่งหลังปีหน้าก่อนว่า จะเป็นไปได้หรือไม่
พาย (Pi) เชื่อว่า SCC ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยด้านอุปสงค์ และราคาที่กดดันธุรกิจเคมีภัณฑ์ ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกปีหน้า แต่มองบวกมากขึ้นต่อภาพครึ่งหลังปีหน้า และปี 2568 เพราะคาดว่าอุปสงค์ซีเมนต์ และบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคน่าจะปรับดีขึ้น ส่วนต่างราคาเคมีภัณฑ์ที่กลับเป็นปกติ และการเติบโตของยอดขายจากโครงการ LSP หลังเริ่มเดินเครื่องเต็มที่ช่วยหนุนการเติบโตของกําไรได้ อย่างไรก็ดี ภาพรวมธุรกิจที่อ่อนแอในปีนี้ ทำให้ต้องปรับลดประมาณการกําไรปีนี้และปีหน้าลง 30% และ 13% เป็น 3.05 หมื่นล้านบาทและ 3.24 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้ปรับลดมูลค่าพื้นฐานปีหน้าลงมาเป็น 318 บาท ตามลําดับ พร้อมแนะนํา "ถือ"
เช่นเดียวกับกสิกรไทย (KS) ที่ให้ราคาเหมาะสมปีหน้าที่ 314 บาท อิง P/BV ที่ 0.86 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง เพราะประเมินว่ากำไรปีหน้าจะยังคงอ่อนแอ จากวัฏจักรอุตสาหกรรมโอเลฟินส์ขาลงที่อาจยืดเยื้อออกไป ตามเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และความเสี่ยงขาลงของส่วนต่างราคาเคมีภัณฑ์ ซึ่งเกิดจากราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนสูง ดังนั้น ด้วยผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้นที่เพียง 12% จึงแนะนำ "ถือ"
ในทางกลับกัน อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) หยวนต้า (YUANTA) และเอเซีย พลัส (ASPS) คิดคล้ายๆ กันว่า การที่ราคาหุ้น SCC ล่าสุด ซื้อขายต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี และยังซื้อขายต่ำกว่า book value (P/BV) ถือได้ว่าตอบรับปัจจัยลบต่างๆ ไปมากพอสมควรแล้ว เมื่อเทียบกับโอกาสฟื้นตัวของธุรกิจปิโตรเคมีที่คาดจะเห็นผลได้ในครึ่งหลังปีหน้า ผลักดันให้เริ่มเห็นกำไรในระยะสั้นค่อยๆ ปรับดีขึ้น ก่อนฟื้นตัวอย่างเด่นชัดในระยะกลางถึงยาว หนุนจากมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงที่สุดในโลก ช่วยให้ส่วนต่างราคาเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปีหน้า และการได้ประโยชน์จากการเดินเครื่องโครงการ LSP เต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นปีหน้า ซึ่งจะเพิ่มความยึดหยุ่นในการเดินเครื่องโรงงานปิโตรเคมีต้นน้ำทั้ง 3 แห่งให้เกิดประสิทธิภาพด้านต้นทุน และประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด จึงมี upside เปิดกว้างจากราคาเป้าหมายที่ทั้ง 3 ให้ไว้ที่ 357 บาท 345 บาท และ 340 บาท ตามลำดับ
สำหรับกลยุทธ์ลงทุน ทั้ง 3 ค่ายแนะนำ "ทยอยซื้อสะสม" เพราะภาพระยะสั้นคาดหุ้นถูกกดดันจากงบไตรมาส 3 ที่ต่ำกว่าคาด และทิศทางไตรมาสสุดท้ายที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้หุ้นยังมีความเสี่ยงขาลง แต่ Downside น่าจะอยู่ในวงจำกัด