CHAYO ราคาหุ้นยังไม่ตอบรับข่าวดีที่จะทยอยเข้ามาหนุน

5192 จำนวนผู้เข้าชม  | 

CHAYO ราคาหุ้นยังไม่ตอบรับข่าวดีที่จะทยอยเข้ามาหนุน

 

บมจ. ชโย กรุ๊ป (CHAYO) ประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปีนี้ ว่า มีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 376.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.3% จากไตรมาส 3 ปีก่อน (YoY) โดยรายได้ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม จำนวน 110.69 ล้านบาท และ 7.67 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีรายได้จากธุรกิจบริการจัดหาคนอีก 4.66 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิโต 103.76% YoY มาอยู่ที่ 87.09 ล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ผลดำเนินงานจะอ่อนตัวลง 18% เพราะมีการตั้งสำรองเพิ่มตามการขยายตัวของพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และยอดการจัดเก็บหนี้ที่เติบโตในอัตราช้าตามภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับผลดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.03% YoY ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ จำนวน 338.28 ล้านบาท และการเพิ่มขึ้นของรายดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม จำนวน 25.57 ล้านบาท เสริมด้วยการมีกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เพิ่มขึ้น 32.25 ล้านบาท หนุนให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 70.96% YoY มาอยู่ที่ 308.15 ล้านบาท สูงกว่ากำไรทั้งปีของปีก่อนแล้ว  

พร้อมกันนี้ นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAYO ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงยอดการจัดเก็บหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และยอดรายได้จากการขายหลักประกันของหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มเติมว่า เพิ่มขึ้น 29% จากช่วง 9 เดือนปีก่อน มาเป็น 302.48 ล้านบาท โดยที่ยอดจัดเก็บหนี้ชนิดไม่มีหลักประกันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการซื้อพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพชนิดไม่มีหลักประกันมาบริหารเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอยู่ที่ 273.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนปีก่อน 126.80 ล้านบาท ตามการขยายตัวของพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามธุรกิจปกติเมื่อมีการซื้อพอร์ตใหม่เข้ามาบริหาร ซึ่งล่าสุด พอร์ตหนี้เพิ่มขึ้นมาเกินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท สำหรับโค้งสุดท้ายปีนี้ บริษัทฯ คาดว่า จะมีการซื้อหนี้เข้าพอร์ตเพิ่มราว 1-2 พันล้านบาท

สำหรับปีหน้า เบื้องต้น ผู้บริหารตั้งเป้ารายได้เติบโตมากกว่า 25% หนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งบริษัทฯ มีแผนลงทุนซื้อหนี้เพิ่มอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และความสามารถในการจัดเก็บหนี้ที่ดีขึ้น เสริมด้วยรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจปล่อยสินเชื่อของบริษัทย่อย ชโย แคปปิตอล (CCAP)

 

 

 

อย่างไรก็ตาม การที่ผลดำเนินงานไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับผลดำเนินงานในระยะสั้นๆ มีแนวโน้มถูกกดดันจากยอดจัดเก็บหนี้ที่น่าจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงการตั้งสำรองในระดับสูง และต้นทุนการเงินที่ยืนสูงตามทิศทางดอกเบี้ย ที่กดดันให้หุ้นกลุ่มบริหารสินทรัพย์ (AMC) เป็นหลักปรับฐานลงทั้งกลุ่ม และมีผลให้ราคาหุ้น CHAYO มีการปรับฐานลงพอสมควรถึงระดับที่น่าสนใจ ทำให้นักวิเคราะห์หุ้นหลายค่ายเริ่มแนะนำให้ "ซื้อ” จาก 2 เหตุผล ประการแรก มีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นกำไรไตรมาส 4 กลับมาเติบโตทั้ง YoY และ QoQ ปัจจัยหลักมาจากกำไรจากการขาย NPA ที่คู้บอน มูลค่าราว 35-40 ล้านบาท รวมถึงรายได้จากธุรกิจบริหารหนี้ และธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ซึ่งยังเติบโตได้ดี หลังความต้องการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องของกลุ่มผู้ประกอบการ SME สูงขึ้น หลังสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในประเด็นนี้ หยวนต้า (YUANTA) อธิบายว่า บริษัทฯ มีการควบคุมความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อได้ค่อนข้างรัดกุม เพราะปล่อยสินเชื่อเพียง 40-50% ของมูลค่าหลักประกัน ทำให้ไม่ต้องกังวลกับคุณภาพหนี้ เพราะสามารถยึดหลักประกัน และนำมาขายเป็น NPA ได้ในภายหลัง และประการที่สอง ราคาหุ้นยังจะมี upside เพิ่มเติมจากการขายทรัพย์ จ.พังงา ซึ่งยืดเยื้อมากว่า 1 ปี ซึ่งจะรู้ผลในปลายปีนี้

กรุงศรี พัฒนสิน (KCS) ให้ราคาเป้าหมายที่ 6.80 บาท อิง P/BV ที่ 1.7 เท่า เทียบเท่า -1.75 S.D. จากค่าเฉลี่ย 5 ปี เพราะราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ P/BV ปีหน้าเพียง 1.4 เท่า เทียบเท่า –2 S.D. ซึ่งถือเป็นระดับ All time low นับตั้งแต่ IPO อีกทั้งคาดว่า ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์น่าจะก้าวผ่านจุดสูงสุดได้แล้ว และยังไม่รวมรายได้ราว 200 ล้านบาท ที่เกิดจากการขายทรัพย์ จ.พังงา ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกปีหน้า เข้าไปในประมาณการ ซึ่งถือเป็น upside risk ต่อประมาณการในระยะต่อไป

ส่วนดาโอ (DAOL) มีมุมมองระมัดระวังเต็มที่ จึงให้มูลค่าเหมาะสมเพียง 6.80 บาท อิง P/BV ที่ 1.4 เท่า เทียบเท่า -2.0 S.D. จากค่าเฉลี่ย 5 ปี เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงจากการจัดเก็บหนี้ที่ยังความล่าช้าได้ต่อเนื่อง และการขายทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น ทั้งจากการขายทรัพย์ที่ จ. พังงา ที่อาจยืดเยื้อได้ต่อเนื่อง และการขายทรัพย์ใหม่ๆ เพราะลูกหนี้จะมีภาระต้นทุนการเงินในการซื้อทรัพย์ที่สูงขึ้น

ขณะที่ YUANTA ประเมินมูลค่าพื้นฐานปีหน้าไว้สูงถึง 7.50 บาท โดยยังไม่คิดรวม upside risk ที่จะเกิดจากการนำบริษัทย่อย CCAP เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ปีหน้า

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้