5338 จำนวนผู้เข้าชม |
นายบรรณ เกษมทรัพย์ ควงคู่นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ. เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ (SJWD) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ออกมาประกาศแผนสร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยการมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ระดับ 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 ว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์หลัก 3 ด้าน คือ ขยายและเชื่อมโครงข่ายโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับภูมิภาค (Regional Connectivity & Expansion) เพิ่มความแข็งแกร่งและยกระดับธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น และออโตโมทีฟ (Strengthen & Scale up Cold Chain & Automative) และสร้างโอกาสจากธุรกิจใหม่ (New Business) เฉพาะปี 2567 นี้ วางงบลงทุนรวมกว่า 4,600 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้รายได้เติบโต 12% จากปี 2566 ที่ทำได้ 23,979 ล้านบาท
โดยกลยุทธ์แรก การขยายและเชื่อมโครงข่ายโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับภูมิภาค บริษัทฯ มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำไรจากต่างประเทศเป็น 40% ภายในปี 2570 หลังจากช่วงก่อนหน้านี้ ได้ขยายการลงทุนเข้าไปในธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล (Sea Freight) ผ่านการถือหุ้น 4.2% ใน บมจ. ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น (SINO) ขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight) ผ่านการถือหุ้น 20.12% ใน บมจ. เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล (ANI) และขนส่งทางบก ผ่านการถือหุ้น 20.44% ใน บมจ. สวิฟท์ (SWIFT) เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งได้ครบวงจร และครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนและจีนได้อย่างไร้รอยต่อ
ซึ่งทั้ง 3 บริษัทฯ ต่างก็เป็นผู้นำตลาดในแต่ละ segment อย่าง SINO เป็นผู้นำด้านการรขนส่งสินค้าทะเลเส้นทางไทย-อเมริกา อันดับ 3 ของโลก ขณะที่ ANI เป็นตัวแทนขายระวางสินค้าแก่สายการบินต่างๆ ยักษ์ใหญ่ระดับ Top 3 ของเอเชีย ขณะที่ SWIFT เป็นผู้ให้บริการขนส่งทางบกรายใหญ่สุดในมาเลเซีย โดยทำรายได้รวมกันสูงกว่า 100,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา เฉพาะปีนี้ คาดว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรไม่น้อยกว่า 240 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ เตรียมซื้อหุ้น 100% ในบริษัท เอสซีจี อินเตอร์ เวียดนาม (SCG Inter Vietnam) จากบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์กับ บมจ. เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ในโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม Long Son Petrochemicals ในไตรมาส 2 นี้
ส่วนกลยุทธ์เพิ่มความแข็งแกร่งและยกระดับธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น และออโตโมทีฟ ในแง่คลังสินค้าห้องเย็น พร้อมใช้จุดแข็งจากศักยภาพการให้บริการคลังสินค้าห้องเย็นอย่างครบวงจร แบบ End-to-End และการให้บริการโลจิสติกส์แก่ผลิตภัณฑ์ยาครอบคลุมทั่วประเทศในการขยายตลาด ผ่านคลังสินค้าห้องเย็นที่เปิดบริการแล้วใน 6 ทำเล ที่สมุทรสาคร สระบุรี สุวิทนวงศ์ บางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 17, 19 และ 22 สามารถรองรับสินค้าได้ 135,000 ตัน ด้วยอัตราเช่าเฉลี่ย 74% และมีแผนขยายคลังสินค้าห้องเย็นเพิ่มอีก 5 ทำเล รองรับสินค้าได้อีก 34,000 ตัน ประกอบด้วยคลังสินค้าห้องเย็น ย่านรังสิต 2 หลัง รองรับสินค้าได้ 23,000 ตัน คลังห้องเย็นสระบุรีเฟส 2 จัดเก็บสินค้าได้ 8,000 ตัน คลังสินค้าที่สาขาเชียงใหม่ และสาขาขอนแก่น ที่จัดเก็บสินค้าได้แห่งละ 1,500 ตัน อีกทั้งจะรวมเครือข่าย FUZE POST ที่ให้บริการจัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน เพื่อตอบสนองดีมานด์ตลาด B2B2C เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโต 10% จากปีที่ผ่านมา
ขณะที่ธุรกิจออโตโมทีฟ หรือการให้บริการจัดเก็บและบริหารยานยนต์อย่างครบวงจร จะใช้จุดแข็งจากความเชี่ยวชาญ และคุณภาพการให้บริการที่มีมาตรฐาน จนทำให้บริษัทฯ ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 30-35% มาขยายตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งชิ้นส่วนอะไหล่ ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีแผนนำโมเดลธุรกิจออโตโมทีฟรุกให้บริการในเวียดนาม เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโต 10% จากปีที่ผ่านมา
สำหรับกลยุทธ์สร้างโอกาสจากธุรกิจใหม่ จะโฟกัสไปที่ 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ธุรกิจพื้นที่เก็บสินค้าให้เช่าภายใต้แบรนด์ MeSpace และขยายธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์แก่อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์และยา
โดยธุรกิจคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ที่ก่อสร้างตามความต้องการของผู้เช่า ภายใต้บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น (Alpha) ซึ่งบริษัทฯ ร่วมทุนกับ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) ปัจจุบันมีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนารวม 9 ทำเล คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 500,000 ตารางเมตร มีแผนนำสินทรัพย์ราว 200,000 ตารางเมตร ขายเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ปีนี้ มูลค่าราว 3,500-3,800 ล้านบาท และยังมีแผนจะนำ Alpha เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีหน้าอีกด้วย
ขณะที่ธุรกิจพื้นที่เก็บสินค้าให้เช่าภายใต้แบรนด์ MeSpace พร้อมรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจพื้นที่เก็บสินค้าให้เช่าที่มีพื้นที่รวม 30,000 ตารางเมตร มากที่สุดในประเทศ กระจายตัวใน 10 สาขา เช่น สยาม ลาดพร้าว พระราม 9 ศรีกรีฑา พัทยา ภูเก็ต และการเป็นพันธมิตรกับ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เพื่อต่อยอดรายได้ปีนี้ให้เติบโตมากกว่า 50% จากปีที่ผ่านมา เป็นแตะ 112 ล้านบาท
สำหรับแผนขยายธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์แก่อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์และยาที่มีศักยภาพเติบโตสูง เตรียมคลังสินค้าย่านบางนา กม. 22 พื้นที่กว่า 28,000 ตารางเมตร ไว้รองรับการให้บริการคลังสินค้าห้องเย็น ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และยา โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 70 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน SJWD พร้อมยกระดับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยวางเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสโคป 1 และ 2 ที่ 10% ในปีนี้ ก่อนจะเป็น Net Zero Carbon ในปี 2593 ผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งกำหนดเป็นโรดแมป และแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน จนถึงปี 2570 โดยมีแผนจะเข้ารับการประเมิน CSA (Corporate Sustainability Assessment) เพื่อเป็นสมาชิก S&P Global และการเข้ารับการประเมิน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ในกลุ่มอุตสาหกรรม Transport and Transport Infrastructure เพื่อมุ่งสู่การขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน
แผนธุรกิจเหล่านี้ ถูกตีความจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายสำนักคล้ายๆ กัน ว่า หลังจากถูกดดันจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ และผลของ EPS dilution ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เห็นผลดำเนินงานเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากธุรกิจเดิม ทั้งคลังสินค้าห้องเย็น และออโตโมทีฟ ที่ยังเติบโตได้ดี เสริมด้วยรายได้จากบริการใหม่ ไม่ว่าจะเป็น cross-sale หรือ up-sale จากการมีบริการที่หลากหลายขึ้น และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแบบครบวงจร โดยเฉพาะ ANI และ SWIFT รวมถึงการขายสินทรัพย์บางส่วนเข้ากอง REIT ในครึ่งปีหลัง ทำให้มีการปรับเพิ่มประมาณการกําไรปกติปี 2567 ขึ้นมาเป็น 1.25-1.36 พันล้านบาท และปี 2568 ขึ้นมาที่ 1.45-1.56 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การประเมินราคาเหมาะสมกลับมีความแตกต่างกันออกไป โดยฟินันเซีย ไซรัส (FSS) ให้มูลค่าสูงที่สุด ถึง 23 บาท ขณะที่ดาโอ (DAOL) และกรุงศรี พัฒนสิน (KCS) ประเมินราคาใกล้เคียงกันที่ 21 บาท ส่วนธนชาต (TNS) กสิกรไทย (KS) และเอเซีย พลัส (ASPS) ให้เป้าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Concencus) คาดการณ์ไว้ที่ 19.60 บาท