JMART ลุยแก้ปัญหาผลงานไตรมาสแรกอ่อนแอ ปั้นกำไรครึ่งปีหลังโตแกร่ง มั่นใจสินเชื่อ Locked Phone เป็นพระเอก

1874 จำนวนผู้เข้าชม  | 

JMART ลุยแก้ปัญหาผลงานไตรมาสแรกอ่อนแอ ปั้นกำไรครึ่งปีหลังโตแกร่ง มั่นใจสินเชื่อ Locked Phone เป็นพระเอก


 

 


บมจ. เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) ประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาสแรกปี 2568 มีรายได้จากการดำเนินงาน 3,727.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) หลักๆ มาจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทฯ ในการผลักดันยอดขายมือถือให้กับบริษัท เจมาร์ท โมบาย (JMB) ผ่านสินเชื่อ Locked Phone ทั้ง Samsung Finance+ ของ บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล (KBJ) และ SG Finance+ ของ บมจ. เอสจี แคปปิตอล (SGC) อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้น กลับกดดันให้กำไรจากการดำเนินงานลดลง โดยธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และประกันภัย ซึ่งดำเนินงานโดย บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) มีกำไรลดลงเหลือ 330 ล้านบาท หลังจัดเก็บหนี้ได้ลดลง และต้องตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) เพิ่มขึ้น อีกทั้งการปรับกลยุทธ์มาเน้นเลือกรับประกันเพื่อควบคุมความเสี่ยง ยังฉุดให้รายได้จากธุรกิจประกันภัยลดลง ส่วนธุรกิจบริหารพื้นที่ค้าปลีก ที่ดำเนินงานโดย บมจ. เจเอเอส แอสเซ็ท (J) พลิกจากมีกำไร 6 ล้านบาท มาเป็นขาดทุน 30 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจจำหน่ายมือถือ ผ่าน JMB มีกำไรทรงตัวที่ 22 ล้านบาท ประกอบกับรายได้อื่นๆ และรายการพิเศษก็ลดลง ถึงแม้จะมีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าสูงขึ้นมาช่วยชดเชยในระดับหนึ่ง ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง 41% YoY และลดลง 55% QoQ มาอยู่ที่ 140 ล้านบาท

ผลดำเนินงานที่อ่อนแอในไตรมาสแรก ทำให้นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART ออกโรงยืนยัน พร้อมปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจำกัด และเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ด้วยการเร่งลดต้นทุนการดำเนินงานภายในกลุ่มบริษัทฯ ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ผ่านการควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การปรับลดจำนวนพนักงาน การปรับลดจำนวนสาขาที่ไม่คุ้มค่า รวมถึงการปรับแผนสร้างรายได้ภายในกลุ่มบริษัทฯ ซี่งจะทำให้ผลดำเนินงานของทั้ง JMT J ฟื้นตัวดีขึ้นเห็นผลได้ชัดเจนในครึ่งปีหลัง พร้อมกับเพิ่มศักยภาพการทำกำไรของ JMB ให้เข้มแข็งมากขึ้น ผ่านการขยายพอร์ตสินเชื่อ Lock Phone ซึ่งจะสามารถต่อยอดธุรกิจจากการรับประกันภัยมือถือตามมาด้วย โดยวางเป้า SGC ขยายพอร์ตสินเชื่อทั้งปี เพิ่มเป็นแตะ 10,000 ล้านบาท เน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการผ่อนชำระจริง เพื่อควบคุมคุณภาพหนี้อย่างเคร่งครัด ซี่งจะหนุนให้ SGC และบริษัทแม่ บมจ. ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) เติบโตอย่างโดดเด่น ขณะที่ KBJ สามารถสร้างกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน จะเสริมกลยุทธ์การตลาดผ่านโครงการ J-Point เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ และแรงจูงใจ ช่วยเพิ่มการซื้อซ้ำของลูกค้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจจำหน่ายมือถือของ JMB ตามมาในที่สุด

ประการสำคัญ กลุ่มบริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับการรักษากระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ และภาระทางการเงินอย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนของหุ้นกู้ และเงินกู้สถาบันการเงิน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมั่นใจได้ว่า กลุ่มบริษัทฯ สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันได้อย่างครบถ้วน และมุ่งมั่นกับการรักษาเครดิตของกลุ่มบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนในระยะยาว

 

 



 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้