ออมสิน เปิดผลงาน 5 ปี ช่วยคนไทย 13 ล้านคนได้ไปต่อ พร้อมนำส่งกำไรเข้ารัฐ ติด Top 3

1339 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ออมสิน เปิดผลงาน 5 ปี ช่วยคนไทย 13 ล้านคนได้ไปต่อ พร้อมนำส่งกำไรเข้ารัฐ ติด Top 3




นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยความสำเร็จการนำองค์กร และผลการดำเนินงานธนาคารออมสิน ในรอบระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ธนาคารได้ปรับบทบาทมาเป็นธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank) โดยนำกำไรเชิงพาณิชย์ส่วนหนึ่งมาใช้ในการสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม มุ่งเน้นไปที่ 4 ภารกิจหลัก คือ การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน การแก้ไขปัญหาหนี้ การสนับสนุนงานพัฒนาสังคมและชุมชน และการสนับสนุนนโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า สามารถสร้าง Social Impact เชิงบวก ด้วยการช่วยเหลือคนไทยกว่า 13 ล้านคน จากจำนวนบัญชี 18.8 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงิน 1.4 ล้านล้านบาท และต่อจากนี้ ธนาคารจะขยาย Social Impact ให้ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านราย

สำหรับภารกิจที่สร้าง Impact โดดเด่น คือ การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน โดยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเงินและสร้างนวัตกรรมการเงินเพื่อสังคม ช่วยให้คนไทยกลุ่มฐานรากให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบ เป็นจำนวนกว่า 7.5 ล้านราย หรือ 10.4 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่มีผู้ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 340,000  ราย วงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท การริเริ่มโครงการสินเชื่อสร้างเครดิตสร้างโอกาส เพื่อกลุ่ม Unserved กับกลุ่ม Underserved และการเปิดบริษัท เงินดีดี เพื่อขยายโอกาสการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มฐานรากได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังทำภารกิจที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันสมบูรณ์ในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดนี้ ช่วยให้ลูกค้ากลุ่มฐานรากได้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยตลาดจำนำทะเบียนลดลงเหลือ 16-18% โดยมาตรการดังที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนของภารกิจสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สิน นับตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ธนาคารสามารถช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้ และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องเสียประวัติทางการเงิน จำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.4 ล้านราย เป็นจำนวน 8.5 ล้านบัญชี ผ่านโครงการแก้หนี้เชิงรุก อาทิ การปลดหนี้ลูกหนี้รายย่อยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด รวมแล้วกว่า 1.3 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวมกว่า 11,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรการ Re-finance เพื่อสังคม และการชะลอการดำเนินคดีตามกฎหมายกับลูกหนี้สถานะ NPLs ผ่านมาตรการ 4 ไม่ การพักหนี้ ลด/ไม่คิดดอกเบี้ย การขับเคลื่อนมาตรการคุณสู้ เราช่วย ได้มากถึง 190,000 ราย หรือ 300,000 บัญชี คิดเป็นสัดส่วน 33% ของผู้มีสิทธิ์ที่ลงทะเบียนทั้งระบบ ตลอดจนการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์อารีย์ (Ari-AMC) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยเพื่อฟื้นเสถียรภาพทางการเงิน และคืนความสามารถในการดำรงชีวิตให้ประชาชน โดยประคับประคองไม่ให้ลูกหนี้เสียวินัยการเงินด้วย

ขณะที่ภารกิจในการพัฒนายกระดับศักยภาพชุมชนและสังคม มีผู้ได้รับประโยชน์แล้วกว่า 1.07 ล้านราย ผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-Based Development) โครงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อยและองค์กรชุมชน หรือการเดินหน้าส่งเสริมทักษะความรู้ทางการเงินและการออม ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการออมต่อเนื่องและการออมระยะยาวสำหรับกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย และการใช้เครื่องมือให้ความรู้ใหม่ๆ เช่น แอปพลิเคชันโค้ชออม





นอกจากนี้ ยังมีความสำเร็จที่สำคัญอีกประการ คือ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของธนาคาร เพื่อเป้าหมายความสำเร็จในการขยายผลสร้าง Social Impact ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยธนาคารได้ริเริ่มการบริหารจัดการรูปแบบกลุ่มธุรกิจ จัดตั้ง 4 บริษัทย่อยทำธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ บริษัท เงินดีดี ขยายผลการเข้าถึงสินเชื่อของรายย่อย/กลุ่มฐานราก บริษัท มีที่ มีเงิน ขยายการเข้าถึงสินเชื่อ SMEs บริษัท ARIAMC เพื่อแก้ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และบริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ เพื่อยกระดับศักยภาพ Digital & AI สนับสนุนภารกิจธนาคารออมสิน

ประการสำคัญ ธนาคารยังสามารถรักษาสมดุลของฐานะทางการเงินได้อย่างแข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานด้านการเงินของธนาคารมีความมั่นคงแข็งแกร่ง มีสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝากเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับสูงที่ 18.83% และมีเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั่วไป (General Provision) เติบโตจาก 4 พันล้านบาท ในปี 2562 เป็น 7.3 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน โดยมีเงินสำรองรวมสูงแตะระดับ 1.3 แสนล้านบาท สะท้อนความมั่นคงแข็งแกร่งของธนาคาร ขณะที่ยังคงสามารถนำส่งกำไรกลับเป็นรายได้เข้าแผ่นดิน (เงินนำส่งคลัง) ได้สูงเป็นลำดับที่ 3 หรือกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 ขณะที่ 5 ปีที่ผ่านมา สามารถนำส่งเงินกำไรได้มากกว่า 96,000 ล้านบาท ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ส่งเงินให้รัฐสูงสุดในสามลำดับแรก




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้