1369 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) และ บมจ. สหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) สานต่อความร่วมมือในการส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor - SMR) เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ให้พร้อมตอบสนองความต้องการพลังงานของภาคอุตสาหกรรม และพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศ (Net Zero) ในปี 2608 ผ่านการจัดงานสัมมนา Thailand's SMR Energy Forum - A Global Dialogue on SMR Deployment ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาร่วมให้องค์ความรู้ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ในการใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้า SMR อย่างนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นางสาวชาลอต นิโคลส์ สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ และประธานร่วมกลุ่มสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ สหราชอาณาจักร นายไซมอน สตัทฟอร์ด ผู้บริหารระดับสูง Castletown Law จากสหราชอาณาจักร นายโทรุ อิโตะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายจัดการโครงการ บริษัท ฮิตาชิ-จีอี เวอร์โนวา นิวเคลียร์ เอ็นเนอร์ยี่ นายอเล็กซิส ออนเนอร์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โรลส-รอยส์ เอสเอ็มอาร์ และนายเฉิน ฟางจุน ผู้แทนประจำประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนาม บริษัท ไชน่า เนชั่นแนล นิวเคลียร์ คอร์ปอเรชั่น
โดยเนื้อหาหลักของการสัมมนา ครอบคลุมประเด็นสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการนำ SMR มาใช้ในประเทศไทยในอนาคต ท้ั้งประเด็นการพัฒนาเทคโนโลยี การออกแบบ การจัดการเชื้อเพลิงและซัพพลายเชน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กฎระเบียบและการกำกับดูแล การลงทุน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน SMR และการสร้างการยอมรับของสังคม เพราะทั่วโลกให้การตอบรับการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าในวงกว้างมากขึ้น จากการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพไม่ต้องกังวลปัญหาไฟตก หรือไฟดับในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้เป็นอย่างดี และทำให้เทคโนโลยี SMR ได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น
โอกาสนี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ได้ปาฐกพิเศษในหัวข้ออนาคตของความมั่นคงทางพลังงาน ด้วย พร้อมชี้แจงด้วยว่า ภาครัฐมีแนวคิดที่จะนำเอาเทคโนโลยี SMR มาใช้เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศ (Net Zero) ภายในปี 2608 ด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย การกำกับดูแล การคัดเลือกเทคโนโลยี การเลือกพื้นที่ติดตั้ง และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า
ซึ่งการร่วมกันจัดสัมมนาของ RATCH และ SPI ครั้งนี้ ทางกระทรวงพลังงานเชื่อมั่นว่า จะช่วยสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ด้าน SMR ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยปูทางไปยังการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคตตามมา